“ผ้าทอมือพื้นเมือง” ของชาวบ้านกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาว ต.ปะอาว อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เป็นงานฝีมือที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่ง ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว เป็นผ้าพื้นเมืองขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยมของที่นี่ สำหรับผ้าทอพื้นเมืองของบ้านปะอาวนี้สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมายหลากหลายชนิด ทั้งทำเป็นผ้านุ่ง ตัดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย นอกจากนั้นทางกลุ่มยังนำเศษผ้าที่ทอเกินจากผ้าผืนใหญ่มาสร้างสรรค์แปรรูปทำเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น “กระเป๋า” ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้เกิดปประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด…ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลมาให้พิจารณาเป็นกรณีศึกษา…
เตือนใจ แก้ววงษา สมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาว เล่าว่า…ชาวบ้านชุมชนบ้านปะอาวมีการสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สมัยก่อนนั้นชาวบ้านปะอาวได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมไว้สำหรับใช้ในครัวเรือนมาโดยตลอด ซึ่งมีการถ่ายทอดและสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าไหมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนลวดลายของผ้าไหมของที่บ้านปะอาวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ส่วนใหญ่เป็นลายธรรมดา ลายลูกแก้ว ลายผ้าพื้นเรียบ
จนมาในปี 2530 ก็มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาวขึ้นมา จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 80 คน โดยได้ทางหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน อาทิ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็เข้ามาช่วยมาแกะลายให้ใหม่เพื่อให้ลายผ้ามีความสวยงามและมีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ส่วนทางด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งเข้ามาสนับสนุนด้านการเงิน และยังเข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านอื่น ๆ อีก ล่าสุดก็เพิ่มช่องทางการตลาด โดยทำเว็บไซต์ A Farm Mart เป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งก็ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
“การทอผ้าไหมของบ้านปะอาวจะเป็นการทอขึ้นด้วยมือทั้งผืน ลวดลายผ้าทอมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมกาบบัว ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าไหมลายลูกแก้ว นอกจากนี้ก็ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ลายอื่น ๆ และผ้าไหมพื้นเรียบ” เตือนใจกล่าว
ส่วนการแปรรูปทำกระเป๋านั้นก็ได้ทางพัฒนาชุมชนเข้ามาสนับสนุน แนะนำให้นำเศษผ้าทอที่เหลือจากการทอผ้าผืนใหญ่ มาแปรรูปเป็นของชำร่วย ของที่ระลึกต่าง ๆ รวมถึงกระเป๋า ขายให้กับนักท่องเที่ยวในราคาที่ไม่แพง ซึ่งก็ทำให้สินค้าจากการแปรรูปนี้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดีให้กับทางกลุ่ม
“กระเป๋าที่ทำนั้นจะใช้เศษผ้าที่เหลือเกินจากการทอผ้าผืนมาทำ เป็นการนำเศษผ้าที่เหลือจากการทอผ้า 1 ผืน มาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นผ้าไหมแท้ทำให้กระเป๋าดูดีมีคุณค่าและสีสันที่สดใส” เตือนใจกล่าว
ทุนเบื้องต้น
ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำ ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคา ซึ่งราคาขายกระเป๋าผ้าพื้นเมืองมีตั้งแต่ 20-250 บาท ขึ้นกับประเภท รูปแบบ ขนาด ความยากง่ายของชิ้นงาน …ซึ่งกระเป๋าของที่กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาวทำนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่าง สร้อยคอ, ที่ใส่กล่องกระดาษทิซชู, ผ้ารองจาน เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีผ้าทอพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น ผ้าไหม ผ้ากาบบัว ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมลูกแก้ว ที่มีราคาตั้งแต่ 1,800-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับผ้าและลวดลาย
วัสดุอุปกรณ์
ที่จำเป็น ประกอบด้วย ผ้าไหมและผ้าต่าง ๆ, หูกระเป๋า, ผ้าซับใน, ซิป และอุปกรณ์สำหรับเย็บผ้า พวกจักรเย็บผ้า, ด้าย, กรรไกร เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ “กระเป๋าจากผ้าทอพื้นเมือง”
เริ่มจากการออกแบบทำแพตเทิร์นกระเป๋าก่อน โดยการวาดออกแบบลงบนกระดาษ และก็ตัดแบบออกมาเป็นแพตเทิร์น ทรงกระเป๋า จากนั้นก็เลือกเศษผ้าไหมให้ได้สีตามที่ต้องการ นำแพตเทิร์นวางทาบลงบนผ้าวาดเส้นตามแบบ เสร็จแล้วก็ตัดผ้าตามแบบที่วาดไว้ และทำการตัดผ้าซับในให้ได้ขนาดตามแบบเดียวกัน จากนั้นนำผ้าที่ตัดตามแบบแล้วไปติดลงบนผ้าซับในที่ตัดเตรียมไว้ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการเย็บประกอบเข้ากันเป็นกระเป๋าแล้วก็ติดซิป ใส่หูกระเป๋า เสร็จแล้วก็เช็กความเรียบร้อยและเก็บรายละเอียดอีกครั้งเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนพร้อมวางขายได้
“สำหรับคนที่สนใจทำชิ้นงานแฮนด์เมดประเภทนี้ อาจจะต้องมีทักษะพื้นฐานในการตัดเย็บอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่มีก็สามารถฝึกหัดทำได้ไม่ยากเพียงแต่ต้องมีใจรัก มีความอดทน มีความประณีต ที่สำคัญจะต้องมีไอเดียสร้างสรรค์ คิดพัฒนาทำสินค้าให้ออกมามีความน่าสนใจ มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญสามารถนำผ้าที่เป็นของดีของพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายมาพลิกแพลงดัดแปลงทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน” เตือนใจแนะนำ
สนใจงาน “กระเป๋าผ้าทอพื้น เมือง” และผ้าไหม ผ้าทอพื้นเมือง ของทางกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาว มีวางจำหน่ายอยู่ที่ ศูนย์ทอผ้าพื้นเมืองบ้านปะอาว ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และที่โอทอปเซ็นเตอร์ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หรือเข้าไปดูสินค้าและสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ A Farm Mart ช่องทางการขายออนไลน์ที่ทาง ธ.ก.ส. ทำขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้เกษตรกร…ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบชิ้นงานจากการนำผ้าทอพื้นเมืองภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดแปรรูปเป็นสินค้า ที่สามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้น่าสนใจ.
……………………………………………
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/741685