(28 ม.ค.64) ปัจจุบันกระแสความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นตามการตื่นตัวด้านสุขภาพและการปกป้องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลประเทศต่างๆ มีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า บางประเทศมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายๆ ประเทศได้มีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไทย ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต โดยได้มีนโยบายในการดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการลงทุนเพื่อเอื้อต่อการลงทุนที่หลากหลาย เพราะไม่ใช่แค่การลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อีก เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ
ความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติยืนยันจากรายงานของสำนักงานพลังงานสากลในปี 2562 ที่สรุปว่าทั้งโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมประมาณ 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม 7.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40%
ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก (รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก) จะสูงถึงประมาณ 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่ายและจำนวนสะสมสูงสุด และตลาดที่จะขยายตัวชัดเจน คือ จีน ยุโรป สหรัฐฯ และอินเดีย
ธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีโอกาสโตตาม
นอกจากนั้น ยังพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่ทำให้ยานยนต์สามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้หลากหลายใกล้เคียงกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไปเป็นแบบวงล้อ (Hub and Spoke) ที่ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (ระบบเซ็นเซอร์รอบคันสำหรับการขับขี่อัตโนมัติ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายอื่นๆ) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
สหรัฐฯ ผู้บริโภครายใหญ่ของโลก
สำหรับผู้ซื้อผู้ขายหลักในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลก จากรายงาน Global EV Outlook 2020 พบว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มียอดจำหน่ายในประเทศ (รวมทั้ง BEV และ PHEV) สูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2562 ประกอบด้วย จีน สหรัฐฯ เยอรมนี นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน และญี่ปุ่น มีสัดส่วนรวมกันถึง 90% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก สะท้อนศักยภาพในฐานะผู้ซื้อหลักของโลก
ส่วนการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV, PHEV และ BEV ของทั้งโลกในปี 2562 มีมูลค่ารวม 70,817 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55% ประเภทรถที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสูงสุดตามลำดับ คือ HEV สัดส่วน 48.5% BEV สัดส่วน 32.7% และ PHEV สัดส่วน 18.7% โดย 10 ประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด (รวมรถทุกประเภท) ได้แก่ สหรัฐฯ เบลเยียม จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส และสวีเดน มีสัดส่วนรวมคิดเป็น 70% ของมูลค่าการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของโลก และเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นเบลเยียม และสเปน) ล้วนเป็นตลาดศักยภาพที่มียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสูงสุดทั้งสิ้น
ตลาดเหล่านี้นิยมนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจาก 5 ประเทศหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น (24%) เยอรมนี (18%) สหรัฐฯ (12%) เบลเยียม (8%) และเกาหลีใต้ (8%) ซึ่งมีสัดส่วนรวมเป็น 71% ของแหล่งนำเข้าทั้งหมดของโลก นอกนั้นเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น แคนาดา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร สโลวาเกีย ฝรั่งเศส ตุรกี เป็นต้น
ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าโลกก็ขยายตัว
นอกจากการขยายตัวของการบริโภคยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าก็มีการเติบโตตาม โดยในปี 2562 ทั่วโลกมีการนำเข้าชิ้นส่วนยายนต์ไฟฟ้ามูลค่า 450,222 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.45% โดย 10 ประเทศที่นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เยอรมนี เม็กซิโก ฝรั่งเศส ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สเปน และแคนาดา ซึ่งมีสัดส่วนรวมคิดเป็น 57% ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของโลก และเกือบทุกประเทศ (ยกเว้น เม็กซิโก ฮ่องกง และสเปน) ล้วนเป็นตลาดที่มียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศสูงสุดทั้งสิ้น โดยตลาดศักยภาพเหล่านี้นิยมนำเข้าชิ้นส่วนจาก 5 ประเทศ คือ จีน (19%) เยอรมนี (12%) สหรัฐฯ (9%) ญี่ปุ่น (6%) และเกาหลีใต้ (5%) ซึ่งมีสัดส่วนรวมเป็น 40% ของแหล่งนำเข้าทั้งหมดของโลก
ไทยผู้เล่นรายใหม่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับประเทศไทย ในปี 2562 ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า (HEV, PHEV และ BEV) เป็นมูลค่า 128.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 69% แต่กลับมาขยายตัวถึง 155% ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 309.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกรถ HEV ไปตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีมูลค่า 6,887 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 และ 4,145 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ลดลง 6% และ 22% ตามลำดับ) โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่บทบาทของไทยในฐานะแหล่งวัตถุดิบชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในตลาดศักยภาพและผู้ส่งออกหลักมากขึ้น
ยอดนำเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้านตลาดบริโภคภายในประเทศ พบว่ามีการตื่นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง การนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (HEV, PHEV และ BEV) ของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 279.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 70% และในช่วง 9 เดือนของปี 2563 การนำเข้ามีมูลค่า 172.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8% โดยไทยนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV มากที่สุด รองลงมาเป็น HEV และ BEV ตามลำดับ แหล่งนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าสำคัญ 3 อันดับแรกของไทย คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 7,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% และในช่วง 9 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 4,799 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19% แหล่งนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี
ยานยนต์ไฟฟ้าอะไรบ้างที่จะเติบโต
ทั้งนี้ สนค.ได้ทำการรวบรวมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อย่างสกูตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า และจักรยานยนต์เบา โดยเฉพาะในจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ, ยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อและสามล้อ จีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ อินเดีย, ยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำได้รับความนิยมอย่างมากในจีน, รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็ก จีนมีส่วนแบ่งมากที่สุด รองลงมาคือ ยุโรป โดยฝรั่งเศส และเยอรมนี ใช้งานมากที่สุด, รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ยอดจดทะเบียนสูงสุดอยู่ที่จีน, รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ เกือบทั้งหมดจำหน่ายในตลาดจีน, เรือไฟฟ้า ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป บางส่วนอยู่ในอเมริกา และจีน, เครื่องบินไฟฟ้า เริ่มมีการนำมาใช้แล้ว เช่น ที่แคนาดา
แนะไทยปรับตัว-ตักตวงผลประโยชน์
นางพิมพ์ชนก ฟิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่ต้องการผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรักษาความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และทำให้เป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ โดยแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลก ก็จะส่งผลให้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำ และเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ และส่งเสริมการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อหาโอกาสในประเทศใหม่ๆ เช่น เม็กซิโก ที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ผ่านความตกลง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือเยอรมนี เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ตลอดจนพิจารณาการลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้า และลดความเสี่ยงกรณีที่ค่ายรถจากประเทศอื่นเข้าไปลงทุนผลิตและจำหน่ายในตลาดเหล่านั้น
ตามไปดูนโยบายของคู่แข่งในอาเซียน
นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า ในอาเซียนไทยมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหลายประเทศมาก อย่างมาเลเซีย มีนโยบายสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเพื่อเป็นฐานการผลิตของภูมิภาค มีแผนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากกว่า 3,000 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนของอาเซียน ฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์การผลิตยานยนต์อันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV 2,000 คัน รถไฟฟ้าแบบผสม 711,000 คัน และจักรยานไฟฟ้าแบบ 2 ล้อ 2 ล้านคันในปี 2568 เวียดนาม แก้ไขภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และสิงคโปร์ ตั้งเป้าลดการใช้ยานยนต์สันดาปภายในประเทศทั้งหมดภายในปี 2583 และมีแผนติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า 28,000 สถานีภายในปี 2573
เปิดแผน “พาณิชย์” หนุนยานยนต์ไฟฟ้า
นางพิมพ์ชนกสรุปว่า กระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของไทยผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเข้าไปช่วยในการเชื่อมโยงภาคเอกชนจากประเทศผู้ผลิตหลัก (ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน) กับผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้า ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาขีดความสามารถของไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ สามารถที่จะส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอัจฉริยะ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ไปยังคู่ค้าสำคัญและตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับตลาดศักยภาพต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้) เอเชียใต้ (อินเดีย) ออสเตรเลีย อาเซียน (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และสหรัฐฯ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่ไทยสามารถผลิตได้ เช่น จักรยานยนต์ (จีน อินเดีย) รถโดยสารประจำทาง (จีน อินเดีย ยุโรป) ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจด้านแบตเตอรี่ การซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้า บริการดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจออกแบบและบริการติดตั้งอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าในอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน อาคารพาณิชย์ ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะทำหน้าที่ผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี กับประเทศผู้ผลิตหรือตลาดสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกหรือเข้าไปลงทุนยังประเทศศักยภาพได้มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เพื่อเข้าถึงตลาดเยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดน ตลอดจนส่งเสริมการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข่าว https://mgronline.com/business/detail/9640000008599