“งานปักลวดลายลงผ้า” ต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลาย สร้างรายได้งาม

แนะนำอาชีพเสริม

“การปักผ้า” งานฝีมือที่นอกจากจะทำเป็นงานอดิเรกช่วยสร้างสมาธิแล้ว ยังสามารถทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ได้อีกด้วย ซึ่งเทคนิคการปักผ้านี้เป็นงานฝีมือที่สามารถฝึกทำกันได้ไม่ยาก ที่สำคัญสามารถนำไปต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะปักลวดลายลงผ้าแล้วทำเป็นกรอบรูปไว้แขวนโชว์ หรือปักลงบนสินค้าพวกหมวก กระเป๋าผ้าดิบและเสื้อผ้า นอกจากจะเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ชิ้นงานน่าสนใจมากขึ้น ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย…ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณา

ทั้งนี้ การปักลวดลายลงบนผ้า แม้จะเป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยทักษะด้านการปักและควรมีพื้นฐานการออกแบบลวดลายอยู่บ้างแล้วก็สามารถทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นทำแต่ไม่มีทักษะการปักผ้ามาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดสามารถเรียนรู้ฝึกหัดทำได้ไม่ยาก สำหรับการเริ่มฝึกทำใหม่ ๆ แนะนำให้ไปหาหนังสือที่สอนการปักมาศึกษา หรือจะหาดูวิธีการปักจากในอินเทอร์เน็ตก็ได้ การปักผ้าไม่ยากแต่เป็นงานละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา และความอดทน หากมีความตั้งใจหมั่นฝึกฝนฝีมือบ่อย ๆ ซึ่งการฝึกหัดปักผ้าเป็นลวดลาย แรก ๆ อาจจะยังไม่ถนัด ให้ทดลองเริ่มปักจากลวดลายที่ง่าย ๆ รายละเอียดไม่เยอะไปก่อน พยายามฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญขึ้นมาเอง

การปักลวดลายลงบนสินค้าประเภทต่าง ๆ อย่างเช่น กระเป๋าผ้า หมวก สำหรับคนที่เริ่มฝึกใหม่แนะนำให้ใช้วิธีวาดแบบลงบนกระดาษลอกลาย แล้วนำลวดลายที่ออกแบบไว้ไปลอกลายลงบนวัสดุที่จะทำการปักก่อนแล้วค่อยมาทำการปักตามแบบก็จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น

ทุนเบื้องต้น

ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคา ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่ 300-1,000 บาทขึ้นไปต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ความยากง่ายของลวดลายที่ปักลงบนชิ้นงาน ยิ่งลวดลายเยอะ รายละเอียดเยอะราคาก็จะสูงขึ้น นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ หากใช้ไหมพิเศษ หรือใช้ไหมจำนวนมาก หรือใช้ผ้าจากต่างประเทศราคาก็จะสูงขึ้น

วัสดุอุปกรณ์

ประกอบด้วย เข็ม, ไหมสีต่าง ๆ, สะดึง, กระเป๋าผ้าดิบหรือผ้าอื่น ๆ, หมวก และอุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ คัตเตอร์, กรรไกร เป็นต้น

ขั้นตอนการ “ปักลายลงผ้า”

การปักลวดลายลงบนผ้าแล้วนำไปทำเป็นสินค้าอย่าง “กรอบรูปแขวนโชว์” เริ่มจากการคิดและออกแบบก่อนว่าต้องการทำลวดลายประเภทไหน ที่ชอบและคนทั่วไปก็จะชอบด้วย หรือหากเป็นลวดลายที่ลูกค้าสั่งก็ต้องเริ่มจากพูดคุยรายละเอียดกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกันก่อน เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการก็เริ่มออกแบบ โดยวาดเป็นรูปลงกระดาษเพื่อทำเป็นแพทเทิร์น พอได้แบบเป็นที่พอใจก็นำมาลอกลายลงผ้าที่ต้องการจะปักลายลงไป เมื่อลอกแบบเสร็จแล้วก็นำผ้าที่ลอกลายไว้ไปใส่สะดึงให้รูปที่จะปักอยู่กึ่งกลางสะดึงขันให้แน่นตึง เลือกสีของไหมให้ได้ตามลวดลายที่ออกแบบ และเริ่มปักตามแบบจนเสร็จสมบูรณ์ดีแล้วก็ตัดขอบผ้าที่เลยออกมาจากสะดึงให้เรียบร้อย เท่านี้ก็ได้เป็นกรอบรูปสำหรับแขวนโชว์แล้ว

ขั้นตอนการปักลายลง “หมวก” หรือ “กระเป๋าผ้า”

เริ่มจากการออกแบบลวดลายที่ต้องการจะปักลงบนชิ้นงานก่อน โดยการออกแบบลายลงบนหมวกหรือกระเป๋าผ้า ควรต้องจัดวางตำแหน่งของลวดลายที่จะปักลงไปให้เหมาะสม ซึ่งการวาดแบบลงบนชิ้นงานที่จะปักนั้นอาจจะใช้วิธีการวาดแบบลงบนกระดาษก่อนเมื่อได้ลายตามที่ต้องการแล้ว ก็นำแบบไปวาดลงบนหมวกหรือกระเป๋าผ้าที่เตรียมไว้ โดยใช้ดินสอร่างแบบจัดวางตำแหน่งตามที่ต้องการ

“สำหรับคนที่เริ่มฝึกใหม่แนะนำให้วาดแบบลงบนกระดาษลอกลาย แล้วนำลวดลายที่ออกแบบไว้ไปลอกลายลงบนชิ้นงานก็ได้ แต่ที่สำคัญขั้นตอนการร่างภาพด้วยดินสอลงบนหมวกหรือกระเป๋าผ้าที่จะทำการปักลวดลายลงไปนั้น ให้ใช้ดินสอที่ไม่ดำจนเกินไป เพื่อป้องกันการเปื้อนชิ้นงาน และหากร่างผิดก็สามารถใช้ยางลบสะกิดออกเบา ๆ ได้ แต่ไม่ควรลบแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อผ้าเป็นขุยไม่สวยงาม นอกจากนั้นเข็มที่ใช้ปักต้องเลือกให้มีขนาดที่เหมาะสม ถ้าใหญ่เกินไปจะทำให้ลายเป็นรูใหญ่ไม่สวย”

หลังจากที่ร่างแบบที่ต้องการลงบนชิ้นงานเสร็จแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการปัก เริ่มจากการเตรียมด้ายที่จะใช้ปัก เลือกโทนสีที่เหมาะกับลายที่ปัก จากนั้นตัดด้ายให้ยาวพอเหมาะ ด้าย 1 เส้น จะมีเส้นด้ายพันกันอยู่ทั้งหมด 6 เส้น ให้แบ่งด้ายออกมา 2 เส้น โดยการแบ่งด้ายให้จับด้ายไว้แล้วดึงปลายด้ายออกมาทีละเส้น ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ต้องดึงแยกด้ายทีละ 1 เส้นเท่านั้น เพราะถ้าดึงที่เดียว 2 เส้นออกมาเลยด้ายจะม้วนและพันกันทำให้เสียเวลามานั่งแก้ พอได้ด้ายที่ดึงแยกออกมา 2 เส้นก็นำไปร้อยใส่เข็ม จากนั้นก็เริ่มปักลายได้ หลังปักลายเสร็จแล้ว ให้เก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“งานปักลวดลายลงผ้า” เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่ฝึกหัดทำกันได้ไม่ยาก ซึ่งเทคนิคการปักผ้าสามารถนำไปต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลายเพื่อเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้ชิ้นงาน ซึ่งในยามนี้ที่หลายคนกำลังได้รับผลกระทบทั้งเรื่องของงานและรายได้ที่ขาดหายไป จากวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายคนอาจกำลังมองหาอาชีพเสริมทำสร้างรายได้ ซึ่งงานฝีมือประเภทนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ.

…………………………………………………..

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/772208