เบื้องหลัง “อาคเนย์ประกันภัย” เลือกปิดกิจการหนีผู้ถือกรมธรรม์ 10 ล้านคน หลังยอดเคลมประกันโควิดพุ่ง 8.24 พันล้านบาท พบฉวยจังหวะขายประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ต่อเนื่อง แม้ทุกค่ายถอย หลังยอดติดเชื้อในประเทศพุ่ง เดือนเดียวทะยานกว่า 7 แสนฉบับ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นในอุตสาหกรรมประกันภัยแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากการที่บริษัทประกันสามารถขายกรมธรรมได้ถึง 23 ล้านฉบับในปี 2563 และเกือบ 30 ล้านฉบับในปี 2564 แบบ แต่ด้วยโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและยอดเคลมประกันโควิด โดยเฉพาะแบบเจอจ่ายจบ ก็พุ่งขึ้นเช่นกัน
บริษัทประกันวินาศภัยที่มียอดเคลมประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ สูงสุด 5 อันดับ ณ 31 ธันวาคม 2564 คือ อาคเนย์ประกันภัย 7.5 พันล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 8.24 พันล้านบาท บริษัท สินมั่นคงประกันภัย 6.8 พันล้านบาท ซึ่งเคยประกาศยกเลิกประกันโควิดไปแล้ว แต่ถูกคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยับยั้ง บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5.7พันล้านบาท บริษัท เอเชียประกันภัย 4.5 พันล้านบาท และบริษัท เดอะวัน ประกันภัย 4 พันล้านบาท
ในจำนวน 5 บริษัทดังกล่าว คปภ.ได้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจไปแล้ว 2 แห่งคือ เอเชียประกันภัยและ เดอะวัน ประกันภัย
ความวุ่นวายในการบอกเลิกกรมธรรมประกันโควิดของบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ทำให้ คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันบอกเลิกกรมธรรม์จำนวนมากๆ ในคราวเดียวกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ผู้เอาประกันภัย จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัทประกันภัย 2 แห่งในเครือบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือ THG อาณาจักรการเงินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
แม้คดีจะอยู่ระหว่างไต่สวนของศาลปกครองกลางว่า จะพิจารณารับคำร้องหรือไม่ เมื่อ 26 มกราคม 2565 คณะกรรมการ(บอร์ด) ของ TGH ในฐานะผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 97.33% ของบมจ. อาคเนย์ประกันภัย ก็มีมติฟ้าฝ่าให้ อาคเนย์ประกันภัยเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
ขณะเดียวกัน มติบอร์ดในวันดังกล่าวกลับไม่เห็นด้วยที่จะโอนกิจการของอาคเนย์ประกันภัยให้กับบริษัทบริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE บริษัทตามที่เสนอในวาระการประชุมผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยไปก่อนหน้า เนื่องจากเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ดำเนินการในการเลิกกิจการแล้ว ก็ควรให้เป็นหน้าที่ของกองทุนประกันวินาศภัยดำเนินการคืนเบี้ยให้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย
“การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบสำหรับลูกค้าผู้เอาประกันทุกประเภทและผู้เกี่ยวข้องของบริษัท ให้ได้รับเงินคืนทุกราย ซึ่งลูกค้าทุกกรมธรรม์จะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามสิทธิ์อย่างถูกต้อง รวมถึงการดูแลพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจทุกราย”
เบื้องต้น คปภ. ออกมาระบุว่า อาคเนย์ประกันภัยยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการ จนกว่าจะนำเสนอการดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยไม่ว่าจะเป็น
วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่
วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย
การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน
การจัดการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท
ระยะเวลาของการดำเนินการตามเงื่อนไข 1-4 ในกรณีที่ คปภ.อนุมัติให้เลิกกิจการ
ทั้งนี้คณะกรรมการคปภ.จะมีการพิจารณาการยื่นขอเลิกกิจการของอาคเนย์ประกันภัยในวันที่ 28 มกราคม 2565
แหล่งข่าวในวงการประกันเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในแผนการเลิกกิจการของอาคเนย์ประกันภัยตามคำแถลงของ TGH จะพบว่า เป็นการกล่าวที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ถือกรมธรรม์เพราะการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ ตามมาตรา 57 และ 57/1 นั้น หน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดในการดูแลผู้เอาประกันภัยต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกองทุนประกันวินาศภัยแต่อย่างใด
ทั้งนี้กองทุนประกันวินาศภัยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามคำสั่งนายทะเบียน มาตรา 79 แห่งพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง
“การประกาศของ THG สะท้อนเจตนาที่จะทิ้งผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะการระบุให้ผู้ถือกรมธรรม์ทั้งประกันโควิดและประกันอื่นๆ รวม 10.48 ล้านราย จะได้รับคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วนหรือได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องหากย้ายกรมธรรม์ ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นบริษัทใด โดยจะให้โยนให้เป็นหน้าที่ของกองทุนประกันวินาศภัย ทั้งที่กองทุนจะรองรับการบริหารจัดการทรัพย์สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น”แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างสิทธิประโยชน์ กรณีบริษัทเลิกประกอบกิจการโดยสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือกรมธรรม์ประกันอื่นๆ กว่า 8.63 ล้านราย ประกันโควิดอีก 1.85 ล้านราย หรือคู่ค้าไม่ว่าจะเป็นอู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล/ตัวแทนอีก 9,000 ราย และพนักงาน 1,396 คน จะได้รับชำระอย่างครบถ้วน ก็ต่อเมื่อ อาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน
“การกระทำของอาคเนย์ประกันภัยเป็นการสะท้อนมีเจตนาจะทิ้งผู้เอาประกันและประชาชนโดยไม่รับผิดชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้ถือหุ้นอื่นๆ อุตสาหกรรมประกันโดยรวมและเศรษฐกิจของประเทศ หากทางการปล่อยให้เกิดเหตุการณ์คืนใบอนุญาตอย่างไม่มีหลักธรรมาภิบาลและไร้จรรยาบรรณของผู้ประกอบอาชีพจะทำให้เสียหลักการตรงนี้” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้เพราะหากพิจารณาจากยอดการขายประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบของ 2 บริษัทในเครือ THG คือ อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดประมาณเดือนเมษายนปีก่อน ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัยรายอื่น หยุดการขายประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่อาคเนย์ประกันภัยกลับขายอย่างต่อเนื่องทะยานสวนตลาด โดยมีจำนวนกรมธรรม์ 1.84 แสนฉบับก่อนจะพุ่งกว่า 7 แสนฉบับในเดือนพฤษภาคม
“การกระทำของอาคเนย์ประกันภัยจึงอาจเข้าข่ายจงใจหาประโยชน์ วิเคราะห์ตลาดพลาดโดยอาศัยความกลัวของประชาชนในการทำตลาดขายประกัน ขณะที่รายอื่นหยุดแต่บริษัทกลับโหมขายไม่หยุด เมื่อเจอเคสเคลมไม่ไหวก็ทิ้งประชาชน ซึ่งบริษัทอาจจะถูกฟ้องคดีทางแพ่งและอาญาได้” แหล่งข่าวกล่าว
“เครือไทย โฮลดิ้งส์” ของเจ้าสัวเจริญ นับเป็นกลุ่มธุรกิจประกันที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากที่สุด หลังจากนำบริษัทเครืออาคเนย์เข้าเทกโอเวอร์บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) เมื่อปี 2561 และก่อนจะนำเครือไทยโฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ทางอ้อม (backdoor listing) ในปี 2562 ก่อนจะถอน TICออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป
และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ได้ใช้บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ (RDD) ที่เครือไทย โฮลดิ้งส์ถือหุ้นอยู่ 99.99% เข้าไปเทกโอเวอร์บมจ.อินทรประกันภัย หรือ INSURE จากนั้นจะถอน INSURE ออกจากตลาดหลักทรัพย์ต่อไป
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com