จับตา “แกรมมี่” หลังปรับแผน รวมทีมข่าว ช่อง GMM25-ช่อง ONE31 ลดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

จับตา “แกรมมี่” หลังปรับแผน รวมทีมข่าว ช่อง GMM25-ช่อง ONE31 ลดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุน
(27 พ.ย.63) นับตั้งแต่ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล (ไลเซ่นส์) สิ้นสุดเมื่อปลายปี 2556 มีผู้ประกอบการหน้าเก่าและหน้าใหม่เป็น “เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล” แต่การดำเนินธุรกิจให้ยืนระยะ “อยู่รอด” เป็นเรื่องยากมาก และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ผู้ประกอบการเผชิญมรสุมรุมเร้าหลากลูกแล้วลูกเล่า

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นใหญ่ของวงการจอแก้วมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสตระกูล “จุฬางกูร” จะเข้าไปครองอาณาจักรสื่อเก่าแก่ 50 ปีอย่าง “ช่อง3” เนื่องจากถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 คือ “ทวีฉัตร จุฬางกูร” และนับรวมรายชื่อที่มีนามสกุลดังกล่าว ถือหุ้นราว 19% ขณะที่ทายาทผู้ก่อตั้งช่อง 3 อย่าง “มาลีนนท์” ต่างถือในสัดส่วนรองลงมา 9% บ้าง 1% บ้าง แต่รวมกันแล้วสัดส่วนหุ้นใหญ่ยังอยู่ในมือ “มาลีนนท์” ดังเดิม และกระแสทุนใหม่จะเข้ามาแทนที่มาลีนนท์ ผู้บริหารได้หารือกันและให้ปฏิเสธข่าวผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้

ทว่า วันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา วงการทีวีมีการเขย่าธุรกิจอีกครั้ง เมื่อช่องจีเอ็มเอ็ม25 กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จากการบริหารช่องเองไปสู่การให้ผู้ผลิตรายการมาเช่าเวลาแทน พร้อมส่งแม่ทัพ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” มาดูแลด้านคอนเทนท์ควบคู่กับขับเคลื่อนช่องวัน31

สำหรับช่องจีเอ็มเอ็ม25 เป็นธุรกิจทีวีดิจิทัลภายใต้เครือแกรมมี่ ที่มี “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นแม่ทัพคนสำคัญ ซึ่งปี 2556 ได้ส่ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติ (เอสดี) มูลค่า 2,290 ล้านบาท ปลุกปั้นช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ประมูลช่องวาไรตี้ความคมชัดพิเศษ (เอชดี) มูลค่า 3,320 ล้านบาท มีช่องวัน 31 ดึงคนดู

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 อยู่ภายใต้การบริหารของ “สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” มีรายการวาไรตี้ ซีรี่ส์เพื่อสู้ศึกทีวีดิจิทัล แต่ “เรทติ้ง” และ “ผลการดำเนินงาน” ไม่สวยหรูนัก ทำให้ปลายปี 2560 “ไพบูลย์” ต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ดึง 2 ทายาทน้ำเมา “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” มาถือหุ้นสัดส่วน 50% ผ่านบริษัทลูกอย่าง บริษัท สิริดำรงธรรม และบริษัท ภักดีวัฒนา โดยแกรมมี่ ยังถือครอง 50% หลังจากนั้นได้ปรับโครงสร้างการบริหาร ดึง “สถาพร พาณิชรักษาพงษ์” เข้ามาเคลื่อนธุรกิจ ส่วน “สายทิพย์” ถูกลดบทบาท และผันตัวไปเป็นผู้ผลิตรายการแทนภายใต้บริษัท เชนจ์ 2561 โดยมี “ฐาปน” ถือหุ้นอยู่และส่งทีมงานเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท

จับตาทาบหมอเสริฐเพิ่มทุน

นอกจากนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ และมีข่าว “ฐาปน” ต้องการขายหุ้นคืน 50% ให้แก่ “ไพบูลย์” ซึ่งกรุงเทพธุรกิจ ได้สอบถามผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน ต่างปฏิเสธให้ข้อมูล โดย “ฐาปน” กล่าวว่า “เรื่องนี้พูดไม่ได้นะ” ขณะที่ “ไพบูลย์” กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง”

สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ สอบถามไปยังผู้บริหารเครือแกรมมี่ ไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวได้ และแจ้งจะมีการแถลงข่าวให้ทราบพร้อมกันเร็วๆนี้

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัล เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ครั้งนี้ ไม่เพียงแค่แปลงบทบาทจากเจ้าของช่องไปเป็นการให้เช่าช่อง แต่ยังมีกระแสการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ด้วย ซึ่งมีรายชื่อของ “หมอนักเทคโอเวอร์” นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้เงื่อนไขการเข้าเพิ่มทุนให้กับ “ช่องวัน31” และต้องมีการควบรวมทีมงานบางส่วนของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 กับช่องวันเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ “ฝ่ายข่าว” เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและลดต้นทุน โดยโครงสร้างดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2564

“การปรับโครงสร้างครั้งนี้ทำให้มีการปลดพนักงานออกเกือบหมด คนที่ไปต่อได้มีไม่ถึง 20% แม้มีบางส่วนต้องการให้ทำต่อ แต่คนทำงานเลือกขอรับค่าชดเชยแทน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น โครงสร้างต้องเปลี่ยนแปลง โดยผู้บริหารจากช่องวันต้องขยับเข้ามาดูแลช่องจีเอ็มเอ็ม 25 เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน

เอเจนซียันจีเอ็มเอ็ม 25 ไม่จอดำ

ด้านนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัทมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัดหรือเอ็มไอ กล่าวว่า ข้อมูลที่เอเยนซี่ได้รับ คือช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะไม่มีจอดำอย่างแน่นอน แต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร มีนายถกลเกียรติ มาดูแล

ปัจจุบันเอเยนซี่และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ยังคงวางแผนงานซื้อสื่อโฆษณาร่วมกันผ่านรายการเด่นๆ เช่น รายการแฉ มีมดดำ คชาภา เป็นผู้ดำเนินรายการ ผังใหม่มีการเพิ่มเวลามากขึ้น พร้อมกันนี้ช่องเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการใหม่ๆ เฉพาะตลาดเข้าใช้เวลาเพื่อนำเสนอเนื้อหาเพิ่ม เช่น คอนเทนท์จับตลาดวาย หรือ กลุ่มคนชื่นชอบนักแสดงชายรักชาย จากที่ผ่านมาภาพลักษณ์คอนเทนท์ไม่ชัดเจนนัก

“จากนี้ไปช่องจีเอ็มเอ็ม25 จะบริหารโดยแม่ทัพคนเดียวกัน เพื่อลดการทับซ้อนการทำงาน และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น ส่วนจุดยืนในการดึงคนดูต่างกัน ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะเน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ส่วนช่องวันเจาะคนเมืองและตลาดวงกว้าง จากนี้ไปผู้ชมจะได้ดูคอนเทนท์ใหม่ๆเฉพาะทางมาเติมเต็มมากขึ้น”

รายงานจากทีวีดิจิทัลวอช ระบุเรทติ้งช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ระหว่างวันที่ 16-22 พ.ย. 2563 อยู่ที่ 0.147 รั้งอันดับ 11 ซึ่งขยับขึ้นเล็กน้อยจากวันที่ 9-15 พ.ย. 2563 ซึ่งเรทติ้งอยู่ที่ 0.136 รั้งอันดับ 12 อย่างไรก็ตาม การรายงานผลประกอบการของแกรมมี่ มีรายได้กว่า 1,067.9 ล้านบาท ลดลง 29.2% ส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน 31 รายงานว่ามีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

นิว18รอเจรจาเงื่อนไขผู้ดำเนินรายการ

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว คือช่องนิว 18 ซึ่งหลังจากมีการดึงผู้ดำเนินรายการแถวหน้าของเมืองไทย ที่ย้ายจากเนชั่นทีวี 22 ไปร่วมงานด้วย แต่ผังรายการประจำเดือน ธ.ค. 2563 กลับยังไม่มีรายการใหม่และชื่อของผู้ประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากนิวทีวี ระบุว่า การเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ลงตัว ทำให้ผังรายการของเดือน ธ.ค.ค่อนข้างเหมือนเดิม คือมีเพียงรายการข่าวในช่วงต่างๆ เช่น ข่าวเช้า ข่าวเย็น โดยระหว่างวันจะขั้นด้วยรายการสารคดี เช่น NEW documentay, สำรวจโลก และ new explorer

สำหรับช่องนิว18 อยู่ภายใต้บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ทำการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลช่องข่าว 1,310 ล้านบาท โดยเรทติ้งระหว่างวันที่16-22 พ.ย. อยู่ที่ 0.051 รั้งอันดับ 15

และข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าปี 2562 บริษัทมีรายได้กว่า 88 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 260 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้กว่า 116 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายภวัต กล่าวว่า การที่ช่องนิวทีวี ได้ผู้ดำเนินรายการข่าวระดับแม่เหล็กไป มุมมองเรทติ้งยอมรับว่ามีลุ้นให้ปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันเรทติ้งค่อนข้างต่ำ รวมถึงการดึงรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาเพิ่ม จากปัจจุบันมีดเพียงบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ที่ซื้อโฆษณาอยู่

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909868