ดูชัดๆ ข้อดี-ข้อเสีย “ช้อปดีมีคืน” ดีกว่า-ด้อยกว่า “คนละครึ่ง” อย่างไรบ้าง

Exclusive เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(12 พ.ย.63) มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจยังสงสัยว่า หากเลือกรอใช้สิทธิในมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อการ “ลดหย่อนภาษี” จะดีกว่าสมัครร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” จริงหรือเปล่า? และมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง? วันนี้ จะชวนมาเช็ครายละเอียดของมาตรการนี้กันชัดๆ อีกที และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ข้อดีของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”

สำหรับข้อดีของมาตรการ ช้อปดีมีคืน อย่างแรกเลยคือ ไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก เพียงแต่เวลาไปจับจ่ายซื้อของต้องไปซื้อกับร้านค้าที่จดทะเบียนภาษี VAT และสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ได้ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี โดยมาตรการนี้ให้ซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 30,000 บาท ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ข้อดีอีกอย่างคือ มาตรการนี้เหมาะมากกับคนที่ต้องเสียภาษีเยอะๆ ทุกปี ถ้าการจับจ่ายซื้อของต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรายปีได้ ก็นับเป็นเรื่องดี เพราะสามารถลดหย่อนภาษีในอัตราที่มากกว่า

นอกจากนี้ควรคำนึงถึงสิ่งของที่จะซื้อ โดยอาจพิจารณาเลือก ‘ซื้อสินค้าจำเป็น’ ที่ต้องใช้อยู่แล้ว เช่น ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ยา/เวชภัณฑ์สุขภาพ อุปกรณ์ซ่อมบำรุงบ้าน/รถยนต์ หนังสือ ฯลฯ จะช่วยให้การช้อปปิ้งครั้งนี้ได้สิ่งของที่จำเป็นกับชีวิตจริงๆ แถมยังได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย ก็ถือว่าคุ้มค่าอยู่ไม่น้อย

เข้าใจให้ถูกต้อง “ลดหย่อนภาษี” ตามมาตรการนี้

ประชาชนต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่า การจะใช้สิทธิตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนั้น ไม่ใช่ว่าซื้อสินค้าครบ 30,000 ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลแล้วจะได้คืนภาษี 30,000 บาทนะ แบบนี้คือผิด! จริงๆ แล้วเงินภาษีจะได้คืนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิและอัตราภาษีของแต่ละคน ที่ต้องจ่ายรายปี

โดยข้อเท็จจริงการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มีดังนี้

– เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องเสียภาษี) จึงไม่ได้สิทธิคืนภาษี
– เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิคืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
– เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

ดังนั้น กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มากที่สุด จึงเป็นกลุ่มประชาชนผู้ที่มีงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 500,001 บาทขึ้นไป โดยจะได้รับสิทธิคืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน ได้คุ้มค่าที่สุด และอาจดีกว่าการเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” อีกด้วย แต่ทั้งนี้หากต้องการได้เงินคืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท ก็ต้องควักเงินช้อปปิ้งให้ถึงยอด 30,000 บาทด้วย

ข้อเสียของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”

ข้อเสียของมาตรการนี้อย่างแรกเลยก็คือ ไม่ครอบคลุมสินค้าทุกชนิด โดยมีการยกเว้นสินค้าบางชนิดที่ห้ามซื้อ ได้แก่ เหล้า, เบียร์, ไวน์, บุหรี่, ยาสูบ, ค่าน้ำมัน/แก๊สเชื้อเพลิง, ค่าเดินทาง (ค่ารถเมล์ แท๊กซี่ เรือ), ค่าบริการนำเที่ยว, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, ค่าที่พัก (ส่วนสินค้าที่ให้ซื้อได้ตามมาตรการนี้ ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป หนังสือ และสินค้า OTOP)

ข้อเสียอีกอย่างคือ ไม่เหมาะกับผู้ที่เสียภาษีไม่มาก หรือผู้ที่ไม่เสียภาษีรายปี (ได้รับการยกเว้นภาษี) และอาจต้องการความช่วยเหลือในค่าใช้จ่ายรายวันมากกว่า

ดังนั้นประชาชนกลุ่มนี้จึงไม่เหมาะกับมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” แต่เหมาะกับการใช้สิทธิโครงการ “คนละครึ่ง” มากกว่า เนื่องจากผู้มีเงินได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 300,000 บาท หากดูจากตัวเลขที่คำนวณค่าลดหย่อนสูงสุดกับภาษีที่จะได้คืนจากรัฐ จะพบว่าการลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการ “คนละครึ่ง” จะคุ้มมากกว่านั่นเอง

เครดิต https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/907487