(22 ก.พ.64) นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่กรมฯ กำหนดให้การขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทุกชนิดทุกประเภท ต้องมีเอกสารรับรองแพทย์เป็นหลักฐานทุกครั้งทั้งการขอใหม่ กรณีไม่เคยได้รับใบขับขี่หรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อนการเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท
ภาพรวมทั่วประเทศประชาชนที่มาทำใบขับขี่ใหม่ และต่ออายุใบขับขี่นำใบรับรองแพทย์มายื่นประกอบ 100% โดยเฉพาะสำนักงานขนส่งกรุงเทพฯ พื้นที่ 5 (จตุจักร) มีผู้มาทำใบขับขี่ใหม่และขอต่ออายุใบขับขี่เมื่อวันที่ 19 ก.พ.64 จำนวน 832 ราย แบ่งเป็นขอต่ออายุ 655 ราย และ ทำใหม่ 177 ราย โดยใช้ใบรับรองแพทย์แบบเดิม 70% และ ใบรับรองแพทย์แบบใหม่ 30% ตามแบบมาตรฐานของแพทยสภากำหนดที่หัวกระดาษระบุว่า ใบรับรองแพทย์สำหรับใบอนุญาตขับรถ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
1.ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเอง และ
2.ส่วนของแพทย์ตรวจรับรองต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนดรวม 7 ประเภท ได้แก่
1.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
2.ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต จิตฟั่นเฟือนปัญญาอ่อน
3. ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษอาการโรคพิษสุราเรื้อรัง
4.อาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
5. วัณโรคในระยะอันตราย
6. โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม รวมทั้ง
7. โรคลมชักที่มีอาการต่อเนื่องภายใน1 ปี ซึ่งมติที่ประชุมแพทยสภา เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 เห็นชอบให้เพิ่มโรคลมชักที่มีอาการต่อเนื่องภายใน 1 ปี กำหนดเป็นโรคอันตรายห้ามขับรถไว้ในใบรับรองแพทย์ด้วย
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า ใบรับรองแพทย์แบบเดิมมี 2 ส่วนเช่นกัน คือ 1.ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเอง และ 2.ส่วนของแพทย์ตรวจรับรองแต่แบบเดิมยังไม่เพิ่มโรคลมชัก ประชาชนสามารถใช้ใบรับรองแพทย์แบบเก่าได้แต่ต้องเขียนระบุไว้ด้วยว่าไม่เป็นโรคลมชัก จากนั้นให้แพทย์รับรองแล้วนำมาประกอบขอทำใบขับขี่ได้ตามปกติ
สำหรับการใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการขอทำใหม่และขอต่ออายุใบขับขี่ครั้งนี้เนื่องจากเดิมการขอต่ออายุใบขับขี่ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เช่น ต่ออายุใบขับขี่จากชนิดชั่วคราว 2 ปี เป็น 5 ปี แต่สมรรถภาพของร่างกายของผู้ขับรถได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้นและอาจมีโรคประจำตัวหรือมีเหตุให้สมรรถภาพของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถขับรถได้จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้ขับรถเข้ารับการตรวจรับรองจากแพทย์ก่อนเบื้องต้นแล้วจึงจะทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายที่จำเป็นต่อการขับรถเมื่อมาติดต่อที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งต่อไป
นายยงยุทธ ยังตอบข้อซักถามว่าในอนาคตจะกำหนดสภาวะโรคที่ต้องห้ามในการขอรับใบขับขี่เพิ่มเติมเช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน และโรคความดันโลหิตสูง หรือไม่นั้นว่า แพทย์สภาจะเป็นผู้ศึกษา วินิจฉัยและกำหนด โดย ขบ. จะประสานความร่วมมือกับแพทยสภาอย่างใกล้ชิด ถ้ามีการเพิ่มโรคต้องห้ามขับรถอีก ขบ. จะออกประกาศให้สอดคล้องกันต่อไป
แหล่งข่าว https://www.dailynews.co.th/economic/826846