(24 ก.ย. 2563) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด จำกัด ผู้บริหารบัตรไทยแลนด์ อีลิท เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ ของผู้สมัครบัตรไทยแลนด์ อีลิท เฉพาะบัตรที่มีราคาสูงสุด 1-2 ล้านบาท โดยหากสมาชิกทำการลงทุนในไทยขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 31 ล้านบาท ภายใน 1 ปีหลังจากสมัครสมาชิก จะมีสิทธิในการเปลี่ยนประเภทวีซ่าที่สะดวกต่อการพำนักระยะยาว พร้อมทั้งใบอนุญาตทำงานหรือ Work permit ในไทยด้วย แต่สิทธิดังกล่าวจะหมดไปทันทีหากสมาชิกเพิกถอนการลงทุนออกไป
ผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า การลงทุนมีได้ในรูปแบบหลากหลาย แต่รัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินจากสมาชิกหลั่งไหลไปช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ถือบัตรสามารถเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมได้ตามกรอบกฎหมายที่อนุญาตต่อชาวต่างชาติ โดยการปรับเกณฑ์นี้ เหมือนกับเป็นการเพิ่มช่องทางการลงทุนอีกหนึ่งช่องทาง
“ปัจจุบันบัตรไทยแลนด์อีลิทมีสมาชิกอยู่ราว 11,000 ราย แต่ในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่ามียอดผู้สมัครเพิ่มขึ้นสูงกว่าเท่าตัว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวตกค้างในไทย ต้องการพักระยะยาวต่อ หลังจากที่ระยะเวลาที่รัฐบาลยืดหยุ่นให้พำนักในราชอาณาจักรหลังจากวีซ่าหมดอายุจบลงในวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมาซึ่งผู้สมัครเพิ่มเติมมากที่สุดระหว่างเดือน ส.ค. และ ก.ย.มาจากจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป”
ส่วนกรณี ครม.อนุมัติให้มีวันหยุดยาว 4 วัน ถึง 2 ช่วงในเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค.นี้ รวม 8 วัน ททท.คาดว่าจะมีการท่องเที่ยวในประเทศกันคึกคักกว่าในช่วงวันหยุดยาวในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมองว่าจะมีเงินสะพัดช่วงละ 12,000 ล้านบาท หรือรวมกันมากถึง 24,000 ล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางกันประมาณ 3 ล้านคน-ครั้ง
“ททท.ยังได้หารือกระทรวงการคลัง เพื่อยกเครื่องโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้คนมาใช้มากขึ้น เบื้องต้นจะเสนอให้ขยายเวลาจากเดิมจะสิ้นสุดเดือน ต.ค.นี้ ออกไปถึงปลายปี และปรับวงเงินสนับสนุนของรัฐถ้าเที่ยววันธรรมดารัฐอาจจ่ายให้สูงสุด 60% หรืออาจเพิ่มสิทธิให้กับคนที่เคยได้สิทธิไปแล้ว ซึ่ง ททท.กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80 ล้านคน-ครั้ง ในปี 2563 และล่าสุดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว หรือเอ็มโอยู กับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อดึงเศรษฐีภูธร หรือนักธุรกิจท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศให้ออกมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย.2563-ก.พ.2564”
นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท.และหอการค้าจะร่วมกันตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด เพื่อออกแบบแพ็กเกจการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยจากนี้จะหาทางสนับสนุนให้สมาชิกหอการค้าที่มีกว่า 100,000 คนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าจะทำให้เกิดเงินสะพัดใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศปีละกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็นเงิน 300,000-400,000 ล้านบาท
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้หารือวางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และรัฐบาลได้มีมาตรการเข้ามาเสริม เช่น โครงการคนละครึ่ง ส่วนการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาก็ต้องดูให้รอบคอบ ต้องเตรียมการและมีมาตรการให้พร้อม