บ่อตกกุ้ง กิจกรรมใหม่คนเมือง เกิดราวกับดอกเห็ดรอบกรุงฯ

คัมภีร์เศรษฐี 4.0

บ่อตกกุ้ง สันทนาการที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก กลุ่มลูกค้าไม่ได้มีแค่หนุ่มที่ประลองฝีมือ ยังมีสาวๆ ผู้สูงอายุ และเด็กๆ ต่างมาสนุกกับการตกกุ้ง ในบ่อที่ถูกเซ็ตขึ้นมา ภายในสวนอาหาร มากกว่า 30 แห่งหลายแห่งรอบกรุงเทพฯ

สำหรับบ่อตกกุ้งที่นำเสนอในครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในบ่อที่เซ็ตขึ้นมา บนพื้นที่ของตลาดมะลิ เลียบทางด่วนเมืองทองธานี โดยเจ้าของได้เช่าพื้นที่ในตลาดมะลิ 6ล็อค ในราคาค่าเช่า เดือนละ 30,000 บาท รองรับลูกค้าได้ 30 ที่นั่งรอบบ่อ ซึ่งลักษณะการให้บริการ จะเป็นทั้งสวนอาหาร และเป็นบ่อตกกุ้งไว้ในที่เดียวกัน มีอาหารไว้บริการลูกค้ากว่า เกือบ 100 เมนู

นายใจไทย ปานมุนี หรือ (คุณโจ) เจ้าของบ่อกุ้งตลาดมะลิ เล่าว่า ที่มาเปิดทำบ่อตกกุ้งในตลาดนัดแห่งนี้ เพราะว่ามองว่า ตลาดเป็นแหล่งรวมของผู้คน และบ่อตกกุ้งเหมาะกับตลาดกลางคืน เพราะเป็นกิจกรรมสันทนาการหลังเลิกงาน หรือในวันหยุด และตัดปัญหาเรื่องที่จอดรถ เพราะตลาดจัดที่จอดรถไว้อยู่แล้ว และเป็นกิจกรรมของครอบครัว ภรรยาจะไม่ชอบตกกุ้งก็เดินชอปปิ้ง หรือ ถ้าไม่อยากตกกุ้งมีบริการอาหาร เหมือนกับสวนอาหารทั่วไป

สำหรับบ่อตกกุ้งตลาดมะลิแห่งนี้ ผมเปิดมาได้ประมาณ 3 เดือน ลงทุนไปหลัก 3-4 แสนบาท มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่แน่นอน ถ้าเป็นวันหยุดก็จะมากหน่อยที่นั่งตกกุ้ง 30 ที่เต็มตลอดในช่วงวันหยุด โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน ไปยันเที่ยงคืน เปิดวันอังคารถึงวันอาทิตย์ มีรายได้ต่อวันเฉลี่ยวันละ 9,000-10,000 บาท รายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลูกค้า ลูกค้าประจำมีอยู่ค่อนข้างมาก อย่างบางคนเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีกิจกรรมทำที่บ้านว่างก็จะมาวันธรรมดา มานั่งตกกุ้งเพื่อให้คลายเหงา หรือคลายเครียด กลุ่มครอบครัวจะมากันวันหยุด มาพักผ่อนทำกิจกรรม

ในส่วนของโอกาสคืนทุน “คุณโจ” บอกว่า ตั้งไว้ที่ 6 เดือน แต่นี้เพิ่งผ่านมาแค่ 2 เดือนกว่า ๆ ถ้ารายได้ประมาณที่ได้อยู่ในขณะนี้ น่าจะพอคืนทุนได้ในช่วง 6 เดือน ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจบ่อตกกุ้ง ต้องยอมรับว่า มีสูง อย่างในย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีมากกว่า 6 แห่ง ซึ่งของเราถือว่า เป็นน้องเปิดที่เปิดที่หลัง การดึงลูกค้าให้มาใช้บริการต้องเน้นงานบริการที่ดี ดูแลพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้เขากลับมาใช้บริการอีก

นอกจากนี้ ที่จะมัดใจลูกค้าได้ คือ การปล่อยกุ้งลงในบ่อ ซึ่งบ่อของเราถือว่า เราปล่อยกุ้งมากที่สุดบ่อหนึ่ง เพราะวันหนึ่งปล่อยกุ้งมากถึง 40-50 กิโลกรัม เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 กิโลกรัม ไม่นับกุ้งที่เหลือตกค้างในบ่อ ตั้งแต่วันก่อน และในช่วงชั่วโมงที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเยอะประมาณ 1ทุ่มปล่อยกุ้ง 10 กิโลกรัม ช่วงต้นเดือนมีการจัดโปร โดยปล่อยมากถึง 20 กิโลกรัมในช่วงเวลา 1ทุ่ม และหลังจากนั้นปล่อยเพิ่มทุกครึ่งชั่วโมง ไปจนถึงเที่ยงคืน ขนาดกุ้งที่ปล่อยเป็นไซต์ 8-12 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม

ส่วนอัตราค่าบริการ ชั่วโมงละ 100 บาท มีอุปกรณ์ให้ครบ ลูกค้ามาแต่ตัว คันเบ็ดที่จัดให้เป็นคันเบ็ดที่ราคาประมาณ 300 บาท ลูกค้าจะมีฝีมือในการตกแตกต่างกันออกไป บางคนตกเก่งก็ตกได้ถึง 2 กิโลกรัม ก็มี บางคนตกไม่ได้ก็มี แต่เฉลี่ยจะตกได้เขาจึงกลับมาอีก กุ้งที่ได้นำสามารถนำกลับบ้านได้ หรือให้เราช่วยทำอาหารให้ก็ได้ คิดค่าบริการเมนูละ 80 บาท หรือ ถ้าลูกค้าต้องการขายคืน ยินดีรับซื้อคืนในราคาที่กุ้งตาย ซึ่งถูกกว่า กุ้งเป็นครึ่งหนึ่ง

คุณโจ เล่าถึง แหล่งที่มาของกุ้ง ว่า รับซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อมาจากบ่อกุ้งอีกที่หนึ่ง โดยราคากุ้งไม่แน่นอนแล้วแต่ฤดูกาล ราคามีตั้งแต่ 300 กว่าบาทไปจนถึง 400 กว่าบาท ถ้าเป็นช่วงฤดูกาลที่มีกุ้งออกสู่ท้องตลาดเยอะราคาจะถูกลง ส่วนกุ้งขนาดใหญ่ แบบ 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม ก็มีบ้างช่วงจัดโปรฯ ราคากุ้งกิโลกรัมละ 800 บาท โดยกุ้งที่ได้มาจะมาอนุบาลในบ่อ ก่อนปล่อยประมาณ 3-4 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้กุ้งตกใจ ถ้าปล่อยไปเลยกุ้งจะยังตกใจและไม่กินเบ็ดได้

การทำบ่อตกกุ้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมต้องไม่มีความรู้มาก่อน แต่อาศัยการศึกษาหาความรู้จากการไปใช้บริการบ่อตกกุ้งหลายๆ ที และลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า กุ้งไม่กินเบ็ดเพราะอะไร และจะทำอย่างไรให้กุ้งกินเบ็ด เพราะถ้ากุ้งไม่กินเบ็ด หมายความว่าลูกค้าก็จะไม่มาใช้บริการ หรือกุ้งกินเบ็ดมากเกินไปก็จะขาดทุน ต้องนี้เป็นเทคนิค ส่วนลูกค้าก็จะมีเทคนิคการตกกุ้งอย่างไรเพื่อให้ได้กุ้งเช่นกัน

“การทำงานครั้งนี้ผมได้หุ้นกับเพื่อน ซึ่งเดิมก่อนหน้าที่จะมาทำบ่อกุ้ง ผมเคยขายโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง แต่ในช่วงหลัง ลูกค้าที่มาบุญครองลดลงไปมาก ทำให้ผมต้องมองหาอาชีพใหม่ และด้วยตัวเองที่อยู่ในพื้นที่ย่านปากเกร็ด ได้เห็นบ่อตกกุ้งในย่านปากเกร็ดหลายร้าน ผมเลยตัดสินใจ ร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบ่อตกกุ้ง และเลิกกิจการร้านโทรศัพท์ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายเดือน หันมาทำบ่อตกกุ้งดังกล่าว มีค่าใช้จ่าย ค่าพนักงานดูแลบ่อ และทำอาหารอยู่ประมาณ 4-5 คน และตัวเองกับเพื่อนก็จะมาดูแลด้วยตัวเอง ตลอดตั้งแต่เปิดร้านยันปิดร้าน ทำให้เราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้”

สนใจติดต่อ FB:บ่อตกกุ้งตลาดมะลิ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://mgronline.com/smes/detail/9620000096574