เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 16 เมษายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ว่า ตนรู้สึกเจ็บปวด และต้องรับผิดชอบจากการแพร่ระบาดของโควิด ตนไม่ต้องการให้ใครตายสักคน ไม่อยากให้ครอบครัวต้องเสียใจ เพราะตนเป็นคนรักครอบครัว ทั้งนี้จากการระบาดมาจนถึงระยะที่ 3 ทางรัฐบาลได้นำแนวทางทั้งหมดมาประมวล วิเคราะห์ โดยรับฟังความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ จากทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค จนนำมาถึงการประชุม ศบค.ใหญ่ ในวันนี้
“การตัดสินใจอะไรต่างๆ ผมเจ็บปวด ห่วงใยผู้มีรายได้น้อย อะไรหลายอย่างไม่สามารถตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งได้ ตนเป็นคนรับผิดชอบ ต้องทำให้ดีที่สุด พร้อมปลุกคนไทยว่า พวกเราต้องชนะให้ได้ ยืนยันว่าไม่มีการเคอร์ฟิว ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่อาจจะปรับเวลาเปิด-ปิดร้านบางส่วน” นายกฯ กล่าว
ศบค.คลอดมาตรการ “ยกระดับ” คุมโควิด แบ่ง 2 โซนสี-ปิดผับบาร์ 14 วัน-งดขายเหล้า
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 16 เมษายน 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 5/2564 ว่า เพื่อไม่ให้มีการเดินทาง ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อ ในที่ประชุมจึงมีมาตรการต่างๆ โดยจะทดลองใช้ 2 สัปดาห์ และจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564
ทั้งนี้ (ร่าง) ข้อกำหนดออกความตามมาตรการ9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (ฉบับที่20)
ข้อที่ 1 ห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ได้แก่
1.ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียน การสอนทุกประเภท รวมถึงการสอบและฝึกอบรม แต่หากไม่สามารถงดจัดได้ เช่น การสอบของโรงเรียนนานาชาติ ที่ต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศหรือทั่วโลก ก็ให้ทำเรื่องขออนุญาต
2.ห้ามทำกิจกรรมที่รวมคนมากว่า 50 คนขึ้นไป เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่พื้นที่กำหนดให้เป็นพื้นที่กักกันโรค
ข้อที่ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นชอบ โดยให้ปิดผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือกิจการที่คล้ายกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
ข้อที่ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ตามที่กล่าวข้างต้น
สำหรับมาตรการย่อยของพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย
1.การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปิดร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. แต่หากซื้อกลับบ้านสามารถจำหน่ายได้ถึง 23.00 น.
2.ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามดื่มในร้านเด็ดขาด
3.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เปิดได้ตามเวลาปกติและปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. โดยงดเว้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดบริการสวนสนุก ตู้เกม เครื่องเล่น
4.ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดได้ถึงเวลา 23.00 น. โดยให้เริ่มเปิดในเวลา 04.00 น.
5.สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดได้ถึง 21.00 น. สามารถจัดกิจกรรมแข่งกีฬาได้แต่ต้องจำกัดผู้เข้าชม
ก่อนหน้านั้น ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมประกาศ “เคอร์ฟิว” เสนอ “นายกฯ”
(16 เมษายน 2564) เวลา 15.30 น.รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติให้ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือ ควบคุมเวลาออกนอกเคหะสถาน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด โดยห้ามออกจากบ้าน 23.00 – 04.00 น.
โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- ขอนแก่น
- เชียงใหม่
- ชลบุรี
- ตาก
- นครปฐม
- นครราชสีมา
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- ประจวบคีรีขันธ์
- ภูเก็ต
- ระยอง
- สงขลา
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
- สระแก้ว
- สุพรรณบุรี
- อุดรธานี
ส่วนพื้นที่เหลือ 59 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม)
ทั้งนี้ภายหลังการประชุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.จะแถลงผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย