ปราณี จันทวร อดีตประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบางตาแผ่น เล่าว่า…ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ก็มีอาชีพเกษตรกร ส่วนการจักสานเป็นภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้านที่ทำกันมานานแล้ว เริ่มจากการจักสานงานไม้ไผ่ จนต่อมาทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็เข้ามาอบรมการจักสานผักตบชวา เป็นการนำผักตบชวาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากตามแหล่งนํ้าในเขตชุมชนและพื้นที่รอบ ๆ ชุมชนมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์เกิดรายได้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการกีดขวางทางนํ้าได้อีกด้วย ชุมชนบางตาแผ่นจึงเริ่มทำจักสานจากผักตบชวาเป็นผลิตภัณฑ์ขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมาโดยตลอด จนมาในปี 2532 ก่อตั้งเป็นกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ซึ่งทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือการสนับสนุนสินเชื่อด้านเงินทุน
เริ่มจากมีสมาชิกในกลุ่มฯ เพียง 14 คน พอมาในปี 2540 ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก แรงงานในภาคอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้าง ทำให้คนหนุ่มสาวที่ตกงานพากันกลับบ้าน ทางกลุ่มจักสานจึงชักชวนให้ทุกคนเข้าร่วมกลุ่มเพื่อให้มีอาชีพมีรายได้ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 90 กว่าคน และจากการที่มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นก็พบว่า แต่ละคนนั้นมีความถนัดในการจักสานผักตบชวาไม่เท่ากัน บางคนทำสวย บางคนทำไม่สวย ทำให้มีปัญหาในเรื่องคุณภาพของสินค้า ที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงต้องมีการจัดกลุ่มงานให้ตรงกับความถนัดของสมาชิกแต่ละคน คนที่จักสานไม่สวย ก็จะเปลี่ยนให้ไปทำหน้าที่เก็บผักตบชวามาตากแห้งทำเป็นวัตถุดิบแล้วมาขายให้กับทางกลุ่มฯ ส่วนคนที่พอทำได้บ้างแต่งานยังไม่สวยไม่ได้คุณภาพก็เปลี่ยนไปทำหน้าที่ถักเปียถักเกลียว สำหรับไว้ตกแต่งผลิตภัณฑ์มาส่ง ส่วนคนที่จักสานได้สวยก็จักสานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไป การทำแบบนี้นอกจากสมาชิกทุกคนจะมีรายได้แล้ว ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพได้ตามมาตรฐานอีกด้วย
“ทางกลุ่มฯ มีการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากผักตบชวา หลากหลาย อาทิ ตะกร้า กระเช้า กระเป๋า หมวก รวมถึงชุดเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ชุดรับแขก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกจากกลุ่มฯ จะเน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นสำคัญ ทุกขั้นตอนการผลิตจะมีการตรวจสอบคุณภาพ จนเสร็จเป็นสินค้าออกมาก็จะมีการตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งก่อนที่จะส่งให้ลูกค้า” อดีตประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบางตาแผ่นกล่าว
ทุนเบื้องต้น
เงินลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 70% จากราคา ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่ 100-1,000 บาทขึ้นไป ราคานั้นขึ้นอยู่กับประเภท รูปแบบ ชนิดของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความยากง่ายและระยะเวลาในการทำชิ้นงาน ซึ่งสินค้ามีอยู่หลากหลาย กระเช้า กระเป๋า ตะกร้า เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์
ที่จำเป็นในการทำประกอบด้วย…ผักตบชวา, หวาย, แบบสำหรับไว้ขึ้นรูปทำชิ้นงาน, กาวลาเท็กซ์, กำมะถัน, แล็กเกอร์, กรรไกร, เข็มหมุด เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ ตะกร้าสานผักตบชวา
เริ่มจากการหาผักตบชวาจากแหล่งธรรมชาติ โดยเลือกต้นที่มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตรขึ้นไป และต้องเป็นต้นที่ไม่แก่จนเกินไป เพราะต้นผักตบที่แก่จะมีความแข็งทำให้ยากในการสานชิ้นงาน หลังจากได้ผักตบชวามาแล้วก็นำมาล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็นำไปตากแดดในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ให้ผักตบชวาแห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 7 วัน แต่หากไม่มีโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 กว่าวันกว่าผักตบชวาจะแห้งสนิท ผักตบชวาต้องตากให้แห้งสนิทจริง ๆ ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้เส้นผักตบชวาขึ้นรา หลังจากที่ตากผักตบชวาจนแห้งสนิทดีแล้ว ก็อบด้วยกำมะถันประมาณ 1 วัน เสร็จแล้วก็นำไปใส่ถุงและทำการรัดปากถุงให้แน่นหนา การอบกำมะถันเป็นการป้องกันเชื้อรา ทำให้เส้นผักตบชวาที่จะนำมาใช้สานชิ้นงานนั้นสามารถเก็บไว้ใช้งานได้นานเป็นปี
การสานทำตะกร้านั้นก็เริ่มจากเลือกขนาดไซซ์แบบสำหรับไว้ขึ้นรูปทำชิ้นงาน เมื่อได้แล้วก็นำเส้นผักตบชวามาวางเรียงไว้บนแบบใช้เข็มหมุดยึดติดไว้กันหลุด เริ่มสานได้ทันที โดยลายที่สานนั้นก็มีหลากหลายลาย แต่ลายสานที่นิยมก็จะเป็นลายสอง เวลาสานนั้นต้องดึงให้แน่นเพื่อความสวยงาม เริ่มสานจากด้านก้นของตะกร้า สานไล่ขึ้นมาจนเป็นรูปทรง เสร็จแล้วก็ถอดออกจากแบบและก็นำชิ้นงานที่สานนั้นไปชุบกาวลาเท็กซ์ที่ผสมนํ้าและสารกันเชื้อราที่ผสมเตรียมไว้ เสร็จแล้วก็นำไปตากไว้ให้แห้งประมาณ 1 วัน แล้วก็นำมาตกแต่งขอบให้เรียบร้อย และก็นำไปใส่หูจับยึดให้แน่นหนา เสร็จแล้วก็ทาเคลือบด้วยนํ้ายาเคลือบเงาตากให้แห้ง ตรวจเช็กความเรียบร้อยอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
“สำหรับงานหัตถกรรมงานจักสานนี้ เป็นงานฝีมือที่ทำไม่ยาก คนที่สนใจขอแค่มีความตั้งใจจริงสามารถเรียนรู้และฝึกหัดทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีสมาธิใจเย็นเท่านั้น” ปราณีให้คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังสนใจจะทำชิ้นงานรูปแบบนี้
ส่วนใครสนใจผลิตภัณฑ์ “เครื่องจักสานจากผักตบชวา” ของ กลุ่มจักสานผักตบชวาบางตาแผ่น 19/2 หมู่ 1 บ้านบางตาแผ่น ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง 14000 ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9900-3474, 08-0108-4114 …ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่นำวัสดุธรรมชาติมาทำให้เกิดประโยชน์ สามารถทำเป็นอาชีพและใช้เป็น “ช่องทางทำกิน”
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/805224