ภาคเอกชน ชงรัฐ “อัดยาแรง” ปลุกเศรษฐกิจ – เปิดต่างชาติเช่าที่อยู่ระยะยาว 50 ปี

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(4 กันยายน 2563) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ภาคธุรกิจตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” วันที่ 3 ก.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ภาคธุรกิจ 3 กลุ่ม เข้าร่วม คือ 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.ธุรกิจค้าปลีก 3.ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นเวทีครั้งสำคัญที่ซีอีโอของบริษัทขนาดใหญ่ใน 3 กลุ่มธุรกิจมาเข้าร่วมที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่เราควรมองอนาคตข้างหน้า ซึ่งต้องการทราบมุมมองของภาคเอกชนมองโอกาสแต่ละกลุ่มธุรกิจอย่างไร และในอนาคต 3 ปี ข้างหน้าภาคธุรกิจจะอยู่จุดไหนและมีอุปสรรคอย่างไร โดยจะรับฟังความเห็นเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาละบุว่า ข้อเสนอของภาคเอกชนต้องอยู่ในกรอบ 5 ประเด็น คือ

1.วิสัยทัศน์หรือมุมมองใน 3 ปีข้างหน้า โอกาสไทยในเวทีโลก

2.ประเด็นสำคัญ 3 เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน

3.อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ขัดขวางความสำเร็จ

4.กฎกติกาของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

5.หน่วยงานรัฐที่ต้องการให้ปฏิรูปเพื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับฟังความเห็นภาคเอกชนที่ยื่นข้อเสนอหลายด้าน เช่น การสนับสนุนให้มีสินเชื่อสำหรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาคเอกชนได้เสนอมาตรการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)

รวมทั้งเป็นข้อเสนอเรื่องของการสนับสนุนเรื่องภาษี ข้อเสนอเรื่องของผังเมือง และมีข้อเสนออีกหลายอย่างที่รัฐบาลจะต้องนำไปศึกษาและทำรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนจะมีแพคเกจการกระตุ้นซื้อบ้านที่อยู่อาศัยเพิ่มหรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยจะรีบทำมาตรการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ในการประชุมครั้งถัดไปภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับผู้แทนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าพบนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ,สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน , สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมทั้งตัวแทนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ขอผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ (LTV) ที่เป็นอุปสรรคยื่นขอสินเชื่อซื้อบ้านที่กระทบต่อที่อยู่อาศัยระดับล่างราคาตั้งแต่ 2.5 ล้านบาท

2. มีมาตรฐานการสนับสนุนการขอส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่สนับสนุนมาตรการภาษีให้กับผู้ประกอบการที่สร้างบ้านระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาขายบ้านในปัจจุบันจึงขอขยับเพดานราคาเป็น 1.5 ล้านบาท

3.ขยายมาตรการการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 50% ของตลาด

4.ส่งเสริมให้ต่างชาติซื้ออสังหาฯในไทย โดยกำหนดราคาซื้อขาย ให้วีซ่าระยะยาวคนกลุ่มนี้เข้ามาใช้จ่ายในไทย

นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐควรเปิดให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยจูงใจผ่านการให้วีซ่ายาว 5-10 ปี ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาว 30+20 ปี เป็นการจูงใจเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายที่อยู่อาศัยแนวราบ

ขณะที่การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเช่าที่ดิน ควรขยายจากเดิมที่เฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นตลาดส่วนกลาง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางพัฒนาภาคค้าปลีก โดยระยะสั้นเสนอมาตรการ “พยุงการจ้างงาน” เสนอให้กระทรวงแรงงานประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น โดยหากจ้างงานได้มากกว่า 20% จะสร้างงานเพิ่มมากกว่า 1.2 ล้านอัตรา รวมถึงส่งผลดีต่อภาคธุรกิจทุกขนาด เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร

นอกจากนี้ เสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” วงเงิน 50,000 บาท เวลา 60 วัน ซึ่งสร้างเงินสะพัด 75,000 ล้านบาท ใน 60 วัน มาตรการกระตุ้นการบริโภคกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า

ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยอยู่อัตรา 30% สูงสุดใน 15 ประเทศแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าต่างประเทศจึงเสนอให้ทดลองลดภาษีนำเข้าชั่วคราว 4 เดือน เช่น ลดจาก 30% เหลือ 10% จะสร้างเงินสะพัดถึง 25,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน

มาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอด โดยให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ใช้งบ 25,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐตั้งไว้และเร่งจ่ายเงินเอสเอ็มอีจากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน ส่งผลให้เพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี 5 แสนราย

ส่วนภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า เสนอให้เว้นภาษีกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการค้าขายระยะเริ่มต้น โดยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโตก่อนสักระยะถึงค่อยเก็บภาษี รวมถึงการสนับสนุนส่วนลดค่าขนส่งให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อยที่เพิ่งเริ่มต้น

ปัจจุบันยอดขายอีคอมเมิร์ซเทียบกับมูลค่าค้าปลีกโดยรวมในไทยมีสัดส่วน 2% ขณะที่ในจีนมีสัดส่วนถึง 24% ดังนั้นการค้าออนไลน์ของไทยจึงมีโอกาสโตเป็น 10 เท่าได้ไม่นาน ดังนั้นเพื่อพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทยจึงเสนอรัฐให้สนับสนุนโครงการปั้นผู้ขายออนไลน์

ซึ่งสมาคมฯ ทำงานร่วมกับนักขายออนไลน์มือโปร สร้างผลงานพัฒนานักขายออนไลน์เพิ่มรายได้จากศูนย์ เป็น 30,000 บาทต่อเดือนจำนวนมากกว่า 500 ราย โดยหากสนับสนุนจากภาครัฐคาดว่าขยายผลได้อีก 100 เท่า และเห็นผลใน 6 เดือน ช่วยสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ประชาชนยั่งยืน

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896478