“รองเท้าแตะแกะสลักลาย” เป็นชิ้นงานไอเดีย ที่ “แคร์-สุกัญญา อ้นโทน” ทำออกมาขายนั้น เป็นการนำงานศิลปะการแกะสลักลวดลายมาสร้างสรรค์ลงบนพื้นผิวรองเท้าแตะเป็นลวดลายต่าง ๆ ทำให้รองเท้าแตะธรรมดากลายเป็นรองเท้าที่มีลวดลายเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ทำให้ชิ้นงานมีความน่าสนใจมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานอีกด้วย…ซึ่งวันนี้ทีมงานคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ…
แคร์-สุกัญญา ผู้ที่ทำชิ้นงานแกะสลักลายบนรองเท้าแตะขาย เล่าว่า… ปัจจุบันเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ คณะวิทยาการจัดการสาขาการตลาด และกำลังอยู่ในช่วงหางานประจำทำ ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีงานประจำทำก็หาอาชีพเสริมมาทำสร้างรายได้ไปก่อนในช่วงนี้ และด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนที่มีความสนใจในด้านงานศิลปะอยู่แล้ว เลยมีความคิดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากงานศิลปะได้ยังไง จึงลองหาข้อมูลดูในเว็บไซต์จนไปเจอชิ้นงานแกะลายรองเท้าแตะก็เลยเกิดความชอบและสนใจอยากลองทำดูบ้าง พอดีพ่อเป็นคนที่ชอบใส่รองเท้าแตะอยู่แล้วจึงลองเอารองเท้าแตะของพ่อมาทดลองแกะสลักลวดลายก่อนเป็นคู่แรก แต่รองเท้าแตะของพ่อมันเริ่มเก่าทำให้แกะยาก จึงลองไปซื้อคู่ใหม่มาทดลองแกะใหม่
“แรก ๆ ที่ทดลองทำลวดลายที่ออกมายังไม่สวย เนื่องจากน้ำหนักมือยังไม่ได้ กรีดเบาเกินไปหนักเกินไป จึงทำให้ลายที่แกะนั้นเป็นร่องลึกเกินไปบ้าง บางเกินไปบ้าง ก็ใช้เวลาฝึกหัดลองผิดลองถูกหมดรองเท้าแตะไปหลายคู่หลายยี่ห้อ แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าพื้นรองเท้าแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกันทุกคู่ ฝึกแกะอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ก็เริ่มมีความชำนาญมากขึ้น ลวดลายที่แกะมีลายเส้นที่ดูดีเป็นที่พอใจ” …เจ้าของชิ้นงาน กล่าว
โดยเจ้าตัวบอกอีกว่า…รองเท้าคู่แรกที่แกะลายนั้นให้พ่อเอาไปใส่ และหลังจากที่พ่อใส่รองเท้าคู่ที่แกะลายให้ออกไปข้างนอก พอคนเห็นก็ชอบและให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ก็เลยคิดว่าน่าจะทำขายอย่างจริงจังเพื่อเป็นการสร้างรายได้ในช่วงที่กำลังหางานประจำทำ เลยลองเอาชิ้นงานที่ทำไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี และก็มีออร์เดอร์สั่งเข้ามาเรื่อย ๆ ก็เลยยึดทำชิ้นงานนี้มาจนถึงปัจจุบัน
“การแกะสลักลวดลายลงบนรองเท้าแตะจะเน้นในเรื่องของความประณีตเป็นอย่างมาก เพราะการแกะลายลงบนรองเท้านั้นเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความละเอียด การลงมีดแกะต้องมีน้ำหนักมือที่พอดีสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ลายเส้นที่สวย ทำให้ชิ้นงานที่ทำนั้นสวยงามและมีคุณภาพ” …เจ้าของผลงานบอกถึงจุดเด่น ที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบผลงาน
ทุนเบื้องต้น
ใช้เงินลงทุนประมาณ 500-1,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็น ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคา ราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่ 250-300 บาท ซึ่งราคาขายนั้นก็ขึ้นอยู่กับลวดลายที่แกะลงบนรองเท้าแตะว่ามีรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน
วัสดุอุปกรณ์
ที่จำเป็น หลัก ๆ ประกอบด้วย… มีดแกะสลักหรือคัตเตอร์, ใบมีดคัตเตอร์, คีมจับ, ไขควง, กระดาษลอกลาย, ดินสอ, ปากกา, ยางลบ เป็นต้น…วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นสามารถหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไป
ขั้นตอนการทำ “รองเท้าแตะแกะลาย”
เริ่มจากรับออร์เดอร์จากลูกค้ามาก็ให้ทำการพูดคุยรายละเอียดกับลูกค้าให้เข้าใจว่าลูกค้าต้องการรองเท้าไซซ์อะไร สีอะไร และจะให้แกะเป็นลายอะไรแบบไหน หรือถ้าลูกค้าออกแบบลายมาเองก็ให้ลูกค้าส่งลายมาให้ เมื่อพูดคุยกับลูกค้าและเข้าใจตรงกันแล้วก็เริ่มทำการแกะสลักลวดลายตามที่ลูกค้าต้องการได้ทันที
ขั้นตอนการแกะลายลงบนรองเท้านั้นเริ่มจากเลือกรองเท้าตามไซซ์และสีที่ลูกค้าสั่ง เมื่อได้รองเท้าแตะมาแล้วก็ทำการดึงหูรองเท้าออกก่อนทั้ง 2 ข้าง เพื่อความสะดวกในการแกะลวดลายลงบนพื้นรองเท้าแตะ
จากนั้นก็ทำการพรินต์รูปที่ลูกค้าสั่งออกมาและนำไปทำการลอกใส่ลงบนรองเท้า โดยนำกระดาษลอกลายวางลงบนรองเท้าและนำลายที่จะแกะสลักมาวางทาบ จากนั้นใช้ดินสอร่างเส้นตามแบบ ลายก็จะติดบนรองเท้าเป็นแบบร่างในการแกะสลัก เสร็จแล้วก็มาถึงขั้นตอนการแกะลาย โดยให้นำปลายมีดแกะสลัก หรือคัตเตอร์ จุ่มน้ำมันมะกอกก่อน เพื่อให้ง่ายในการกรีดและเศษยางก็หลุดออกง่าย ใช้มีดแกะสลักกรีดลายตามแบบไปเรื่อย ๆ เมื่อทำการแกะลายเสร็จเรียบร้อยดีแล้วทั้ง 2 ข้าง ก็มาตรวจเช็กความเรียบร้อยอีกครั้ง ถ้าไม่มีอะไรต้องแก้ก็นำหูรองเท้าแตะมาใส่เข้าไปตามเดิมเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ พร้อมจัดส่งให้ลูกค้าได้ทันที
“ในการแกะสลักลายนั้น ต้องใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก ต้องใช้น้ำหนักมือที่สม่ำเสมอ และไม่ควรลงน้ำหนักมือหนักเกินไปเพราะอาจจะทำให้รองเท้าขาดได้ การแกะลายต้องมีความอดทน ความใจเย็น ถ้าใจร้อนอาจจะแกะพลาด และที่สำคัญควรระมัดระวังในเรื่องของใบมีดตอนกรีดเพราะถ้าไม่มีสติ ใจร้อน อาจเป็นอันตรายได้” เจ้าของชิ้นงานแนะนำ
ใครสนใจงาน “รองเท้าแตะแกะลาย” ของ แคร์-สุกัญญา สามารถเข้าไปชมสินค้าและสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก : รองเท้าแตะแกะลาย By,Sukanya และ เฟซบุ๊ก : ช่างแคร์ รองเท้าแตะแกะลาย…นี่ก็เป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้งานศิลปะเข้ามาช่วยทำให้ชิ้นงานมีความสวยงามน่าสนใจ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ.
……………………………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/759989