(17 ก.ย.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563 เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการที่ออกไปแล้ว เช่น มาตรการด้านการจ้างงาน
นางสาวกาญจนา ตั้งปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง (สลค.) เปิดเผยว่า ศบศ.เห็นชอบวงเงิน 51,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไปรวม 24 ล้านคน ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
โดยในส่วนนี้จะใช้งบประมาณจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 ก.ย.นี้ พิจารณาก่อนจะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มลงทะเบียนเข้าโครงการในวันที่ 16 ต.ค.
โดยโครงการรักษาระดับการบริโภคในประเทศที่ศบศ.เห็นชอบแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อีก 500 บาท ต่อคนต่อเดือน จากปกติที่ได้รับเดือนละ 200 – 300 บาทต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 700 – 800 บาทต่อเดือน โดยเพิ่มเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้ น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน รวมใช้วงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท
2.โครงการคนละครึ่ง
ซึ่งภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ด้วยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) 50% สูงสุดไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดโครงการ (23 ต.ค.-31 ธ.ค.) รวม 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป (ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบและการบริการ)
สำหรับเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ลงทะเบียนและมีบัตรประจำตัวประชาชน มีกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com
สำหรับร้านค้าที่จะเข้าร่วม ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ มีกลุ่มเป้าหมาย 100,000 ร้านค้า ลงทะเบียนผ่านเวปไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือแจ้งผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย โดยหลังการซื้อขายเสร็จร้านค้าจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ 1 วันหลังชำระเงิน โดยโครงการนี้คล้าย “ชิม ช้อป ใช้” ที่ประชาชนที่เป็นคนซื้อชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และคนขายรับเงินผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงิน
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ร้านค้าที่เป็นนิติบุคคล เฟรนไชส์และร้านสะดวกซื้อเข้าโครงการเพราะ ศบศ.เห็นว่าในระบบเศรษฐกิจมีร้านค้ารายย่อยจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลอยากดูแลส่วนนี้ให้ได้รับรายได้มากขึ้น และช่วยให้ร้านค้าได้รับเงินที่หมุนเวียนได้มากขึ้น ส่วนร้านสะดวกซื้อหรือเฟรนไชส์ในระบบมี 2% ของร้านค้าทั้งระบบเท่านั้น แต่มีการหมุนเวียนของเงินได้ช้ากว่าการกระจายเม็ดเงินไปร้านค้าทั่วไป
“โครงการนี้รัฐสนับสนุนการใช้จ่ายให้กับประชาชน 50% ในโครงการคนละครึ่งสูงสุดไม่เกินวันละ 100 บาท แต่ประชาชนสามารถใช้จ่ายมากกว่าจำนวนนี้ได้เช่นจ่ายไป 400 บาทรัฐจะช่วยจ่ายให้ 100 บาท ประชาชนจ่ายเอง 300 บาท”
นายดนุชา กล่าวว่า ศบศ.เห็นชอบในหลักการข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (สมาร์ทวีซ่า) เพื่อดึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ ตามข้อเสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ การพิจารณาเพิ่มประเภทคำขอเพื่อเข้ามา ลงทุนซื้ออาคารชุดและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามมูลค่าที่กำหนด โดยห้ามจำนอง จำหน่าย โอน ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดระยะเวลาการพำนักในไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนยื่นคำขอ ซึ่งมาตรการนี้เคยใช้ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ระหว่างปี 2541-2546
ส่วนการปรับปรุงเกณฑ์ของมาตรการสมาร์ทวีซ่า คือ 1.ปรับปรุงขอบเขตของกิจกรรมและอุตสาหกรรมเป้าหมายให้รวมถึงการพัฒนา Startup Ecosystem และนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอื่นนอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.เพิ่มเติมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีสัญญาจ้างงานในประเทศ 3.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำสำหรับ ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงบางกลุ่มและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษาของ ผู้บริหารระดับสูง 4.อนุญาตให้ผู้ถือสมาร์ทวีซ่าทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับการรับรองได้ในบางกรณี
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากแนวทางที่รัฐบาลจะให้สมาร์ทวีซ่าชาวต่างชาติอยู่ไทย สามารถลงทุนซื้ออาคารชุด กองทุนอสังหาฯตามมูลค่าที่กำหนด นั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดอสังหาฯแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจน่าจะช่วยให้ต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยหรือสนใจเข้ามาอยู่เมืองไทยหันมาซื้ออสังหาฯในประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างไรก็ตามต้องศึกษารายละเอียดในทางปฏิบัติก่อนว่าจะจูงใจได้มากน้อยแค่ไหน
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898129