นเรศ เหล่าพรรณราย
ใครที่อยู่ในตลาดหุ้นช่วงปี 2008 เป็นต้นมาน่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ Sub Prime ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเงินทั่วโลกในปี 2009 ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักรวมถึงสถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มละลายลงไป มาถึงปี 2022 เราอาจได้เห็นวิกฤติดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งในโลกของการเงินไร้ตัวกลางหรือ DeFi
ก่อนอื่นอธิบายคำว่า Sub Prime ก่อนว่าคืออะไร..ช่วงก่อนปี 2008 เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเติบโตโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ แต่มีคนบางกลุ่มที่มีเครดิตต่ำไม่สามารถจะเป็นเจ้าของบ้านได้ ทำให้เกิดตราสารทางการเงินรูปแบบใหม่นั่นคือการมัดรวมหนี้ที่เครดิตต่ำมารวมกันเป็นตราสารหนี้ที่เรียกว่า CDO จากนั้นสถาบันการเงินนำไปเสนอขายให้กับสถาบันการเงินด้วยกันหรือนักลงทุนรายใหญ่โดยสามารถให้ผลตอบแทนในระดับสูง
ทว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มแย่ลง กลุ่มคนกู้เงินที่เครดิตต่ำนี้เริ่มจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เริ่มเกิดความเสี่ยงที่จะเกิด Default เพราะถ้าไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยจากคนกลุ่มนี้ได้ ตราสาร CDO ดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้
ในที่สุดก็เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นในที่สุด ตราสาร CDO ที่ถูกนำเสนอขายไปทั่วเริ่มที่จะ Default จนสถาบันการเงินที่สร้าง CDO ขึ้นมาเริ่มจะไม่สามารถชำระหนี้ให้กับผู้ลงทุนได้ ในที่สุดก็เกิดการล้มละลายในวงกว้างและความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบการเงินสูญเสียไปอย่างมาก จนกลายมาเป็นจุดกำเนิดของ Bitcoin
ปรากฎการณ์ดังกล่าวเริ่มกลับมาในโลกของ DeFi โดยเริ่มมีกระแสของ DeFi 2.0 ที่ว่ากันว่าเป็นรุ่นที่ได้รับการพัฒนาปิดจุดอ่อนต่าง ๆ ที่เคยมีใน DeFi รุ่นแรก โดยเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ดราม่าขึ้นกับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า Wonderland และ Abracadabra ซึ่งถูกจับตาในฐานะ DeFi 2.0 รุ่นบุกเบิก
โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวเปิดให้สามารถนำสกุลเงินดิจิทัลมาวางเพื่อค้ำประกันในการสร้าง Stablecoins โดยเทียบเคียงกับสกุลเงินดอลลาร์ที่ 1 ต่อ 1 จากนั้นสามารถนำไปฝากในแพลตฟอร์ม Lending เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับ เลขสองหลักซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน
แต่ปรากฎว่าหนึ่งในผู้บริหารของแพลตฟอร์มซึ่งมีประวัติการฉ้อโกงมาก่อน สร้างข้อผิดพลาดขึ้นในขณะที่ราคาสกุลเงินดิจิทัลทั้งตลาดปรับตัวลงมาอย่างแรงจนทำให้ Stablecoins ที่เกิดมาจากการกู้เงินหลุดสัดส่วนที่เทียบเคียงกับสกุลเงินดอลลาร์ไปและทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหายจากการถูกบังคับขาย (Liquidation)
ขณะเดียวกันแพลตฟอร์ม Anchor ภายใต้ Terra Chain ซึ่งเป็น Lending Protocol ที่จ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่นำเงินมาฝากถึง 20% แต่ผลตอบแทนที่สูงนั้นมาจากการที่แพลตฟอร์มผลิตเหรียญของตัวเองขึ้นมาจ่ายกับผู้ลงทุน แต่มูลค่าการทำธุรกรรมกู้ยืมจริงไม่ได้เติบโตไปตามผลตอบแทน
เห็นได้ว่าในโลกของ DeFi เองก็สามารถสร้างตราสารทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูงเข้าข่ายการเป็นวิศวกรรมทางการเงินหรือ DeFiigineering (ศัพท์ที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเอง) เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระดับสูง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากธุรกรรมการเงินจริงที่เกิดขึ้น หรือจะเรียกได้ว่าเป็น Fake Yield ก็ว่าได้
ดราม่าที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Wonderland และ Abracadabra เป็นการลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ DeFi ไปพอสมควร จากเดิมที่สองแพลตฟอร์มดังกล่าวถูกมองว่าจะมาแก้ไขปัญหาเดิมของ DeFi รุนแรกนั่นคือความไม่เสถียรของสภาพคล่อง แต่กลับกลายเป็นธุรกรรมการเงินที่ซับซ้อนทำให้เกิดความเสียหายแทน
ตราบใดที่ DeFi ยังไม่สามารถแก้ไข Pain Point ของตัวเองได้ โอกาสที่จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายหรือ Mass Adoption ก็เป็นไปได้ยากมากขึ้นและน่าจะถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น เราจึงยังต้องรอพัฒนาการของ DeFi ต่อไปซึ่งจะต้องไม่ใช่การเล่น “ท่ายาก” แต่ใช้ท่าง่ายที่ขอเพียงแค่ใช้งานง่าย รวดเร็ว ต้นทุนต่ำและเข้าถึงได้ในวงกว้างเท่านั้นก็พอ
บทความโดย : นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket