(5 ก.ย. 2563) สำนักข่าว CGTN America ในเครือ CGTN ของจีน เสนอข่าว Pandemic lockdowns take a bite out of Bangkok’s street food sellers’ earnings ว่าด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบรรดาผู้ค้าอาหารริมทาง หรือ “สตรีทฟู้ด (Street Food)” ในประเทศไทย อาทิ ร้าน “บะหมี่จับกัง” ย่านเยาวราช ชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่เปิดมานานถึง 55 ปี เอกลักษณ์คือเป็นบะหมี่น้ำชามใหญ่ใส่หมูและเกี๊ยวในราคาเพียง 1 เหรียญสหรัฐ
สุวิทย์ สุรินทร์ศรีรัตน์ (Suwit Suwinsriwat) เจ้าของร้านบะหมี่จับกัง เล่าว่า ตนอยู่กับร้านบะหมี่มาตั้งแต่อายุ 13 ปี ไม่เคยเป็นหนี้ จนกระทั่ง 6 เดือนล่าสุดนี้เอง รายได้ของร้านลดลงไปถึงร้อยละ 40 แม้แต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการของตนมากเท่าครั้งนี้ ขณะที่ผู้สื่อข่าวของ CGTN ก็รายงานว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ทำให้ร้านอาหารริมทางเติบโตเพราะราคาถูกและรสชาติอร่อย แต่กับวิกฤติจากโรคระบาดครั้งนี้ บรรดาผู้ค้าบอกว่าลูกค้ากลัวการออกมาเดินบนถนน ทำให้ธุรกิจย่ำแย่อย่างไม่เคยพบมาก่อน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ชาวไทยนั้นมีชื่อเสียงในด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว Samantha Proyrungtong นักวิจารณ์และที่ปรึกษาด้านอาหาร กล่าวว่า แม้จะเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดต่อร้านอาหารริมทางในกรุงเทพฯ แต่ก็มั่นใจได้ว่าผู้ค้าหลายรายยังอยู่รอดได้ผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้ได้พรากเอาประสบการณ์ในการกินไป เช่น บรรยากาศ กลิ่นและอื่นๆ ที่กระตุ้นประสาทสัมผัส แต่ก็เป็นอีกครั้งของการปรับตัวให้เข้ากับโลก ตามสถานการณ์ที่รับรู้ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม
ขณะที่บริเวณถนนข้าวสาร อีกหนึ่งสถานที่ที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ ที่นี่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยรถเข็นขายผัดไทย แต่ตอนนี้ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (Aswin Kwanmuang) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่า ชื่อเสียงของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางของสตรีทฟู้ดจะยังคงอยู่ นักท่องเที่ยวที่ฝันถึงซุปต้มยำและแกงปลาที่รสชาติจัดจ้านจะได้รับการต้อนรับเมื่อพวกเขาสามารถเดินทางได้ ขอให้มั่นใจในมาตรการป้องกันโรคระบาด กรุงเทพฯ ยังพร้อมให้บริการอาหารริมทางที่อร่อย สะดวก ถูกสุขอนามัยและในราคาที่คุ้มค่า
ถึงกระนั้น หลายจุดในกรุงเทพฯ ไม่อาจยิ้มได้ เนื่องจากผู้ค้าอาหารริมทางไม่สามารถค้าขายได้เต็มที่ตลอดช่วง 3 เดือนที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์ และแม้วันนี้มาตรการดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ลูกค้าจำนวนมากก็ยังคงเลือกที่จะเน้นการอยู่บ้านต่อไป ซึ่ง มาร์ธา เฉิน (Martha Chen) นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ Harvard Kennedy School มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ กล่าวว่า อาหารริมทางคือทรัพยากรที่สำคัญด้านโภชนาการต่อครัวเรือนยากจนรวมถึงแรงงานย้ายถิ่น
นอกจากนี้ สตรีทฟู้ดยังมีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม การปรุงอาหารนั้นมีคุณค่า และมีร้านอาหารริมทางในกรุงเทพฯ ที่ได้รับดาวมิชลิน รวมถึงอีกหลายเมืองของประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ไต้หวัน ซึ่งตนชอบนึกถึงบรรยากาศของอาหารริมทางในแต่ละประเทศ อาทิ ร้านน้ำชาและขนมขบเคี้ยวในอินเดีย ร้านบะหมี่เฝอในเวียดนาม ร้านบาร์บีคิวในจีน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้คนหลากหลาย ดังนั้นจึงมีองค์ประกอบทางสังคมรวมไปถึงสตรีทฟู้ด และแน่นอนว่าในสถานการณ์โรคระบาดและการใช้มาตรการล็อกดาวน์ น่าเสียดายว่าพื้นที่ทางสังคมก็ถูกปิดไปด้วยเช่นกัน
เฉิน ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เน้นให้ผู้คนอยู่บ้านเพื่อสกัดไม่ให้โรคระบาด แต่เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีรายได้และไม่มีอาหารไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าหรือคนอื่นๆ รัฐบาลหลายประเทศพยายามใช้มาตรการทางการเงินและอาหารเพื่อเยียวยาผลกระทบ ซึ่งแม้จะไม่ได้กำหนดเป้าหมายไปที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยโดยเฉพาะ แต่ก็หวังว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงได้
และในขณะนี้เมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์รวมถึงใช้มาตรการฟื้นฟูบางส่วน อย่างในประเทศอินเดีย มีมาตรการช่วยเหลือผ่านกลไกเงินกู้สำหรับผู้ค้าขายข้างถนน แต่สำหรับอินเดีย การใส่เงินเข้าไปต้องมาพร้อมกับการอนุญาตให้ตลาดกลับมาเปิดอีกครั้ง ขณะที่ผู้ค้าเองก็ต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าตลาดมีความปลอดภัย อนึ่ง ในบางกรณี ตลาดกลางแจ้งก็ปลอดภัยกว่าตลาดในพื้นที่ปิด
https://www.naewna.com/inter/516333