วันนี้ (4 มี.ค. 2563) นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตลาดส่งออกทุเรียนในปี 2563 ไม่น่าเป็นห่วง หลังตลาดรับซื้อในมณฑลกวางโจ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีนสามารถเปิดทำการค้าขายได้ตามปกติแล้ว ประกอบกับในช่วงนี้ผลผลิตทุเรียนจันทบุรีที่ออกสู่ตลาดยังคงมีน้อย จึงทำให้ผลผลิตไม่พอจำหน่ายในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ราคาทุเรียนพันธุ์กระดุม ที่ผู้ประกอบการรับซื้อหน้าสวนจากเกษตรกรใน จ.จันทบุรี อยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท หมอนทอง กิโลกรัมละ 150-160 บาท ถือว่าราคาแพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
“แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องการตัดทุเรียนอ่อนออกขาย เพราะจะทำให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อภาพลักษณ์ทุเรียนจันทบุรี และทุเรียนในประเทศไทย ซึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่พ่อค้าคนกลาง หรือเกษตรกรรีบตัดทุเรียนออกขายก่อนกำหนดเพราะเกรงว่าราคาจะถูกลง จึงทำให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก”
นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย ยังฝากถึงเกษตรกรและพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐช่วยกันระมัดระวังการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนออกขาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวงการทุเรียนไทย
ขณะที่ ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้จาก จ.จันทบุรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีการปลูกผลไม้มากสุดในไทย และผลไม้ไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปยังประเทศจีน โดยในระยะแรกที่เชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาด ล้งรับซื้อผลไม้ใน จ.จันทบุรี ต้องพากันหยุดรับซื้อจนสร้างความเดือดร้อนทั้งระบบ
“วันนี้ ล้ง เพิ่งเปิดซื้อผลไม้จึงทำให้ราคายังไม่สูงแต่อย่างใด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลผลิตทุเรียนที่กำลังจะออกสู่ตลาดในอีก 2 เดือนจากนี้ และหากจีนยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ก็เชื่อว่ากระทบต่อผลไม้ไทย และอาจทำให้มูลค่าการส่งผลไม้ไปยังจีนที่เคยมีมูลค่าสูงมาก จะหายไปจากระบบมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท”
ดร.รัฐวิทย์ ยังเผยอีกว่า แม้ในวันนี้ตลาดรับซื้อในจีนจะเริ่มรับซื้อผลไม้จากไทยแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างราคาได้สูงเท่าที่ควร เนื่องจากการบริโภคในพื้ประเทศจีนไม่ดีเหมือนทุกๆ ปี เพราะคนจีนยังไม่กล้าออกจากบ้าน ทำให้ในวันนี้จากเดิมที่ล้งสามารถส่งผลไม้ไปจีนได้วันละหลายตู้คอนเทนเนอร์ ก็เหลือเพียงล้งละ 1 ตู้ต่อวัน หรือ 2 วันขายได้เพียง 1 ตู้เท่านั้น
“หากวัคซีนที่จีนค้นพบสามารถรักษาอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดได้ ก็จะทำให้การส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนดีขึ้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ควรที่จะมีการจัดสร้างห้องเย็นใน จ.จันทบุรี เพราะในช่วงฤดูผลไม้ จ.จันทบุรี จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึง 2-5 ล้านกิโลกรัม จึงควรที่จะมีแหล่งกักเก็บที่ดีเพื่อป้องกันการเน่าเสีย” ดร.รัฐวิทย์ กล่าว