วันนี้ (วันที่ 28 เม.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงแรงงาน ว่า การจ่ายสิทธิประโยชน์เงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะจ่ายให้ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ที่ถูกให้หยุดงานชั่วคราว จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 62 % ของค่าจ้างโดยกำหนดอัตราชดเชยไว้สูงสุดไม่เกิน 9,300 บาท จนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่ไม่เกิน 90 วัน
พบว่า ติดปัญหาล่าช้าจากการตรวจสอบสิทธิ์ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ในการตรวจวินิจฉัยสิทธิ์ หลังมีผู้ประกันตนแห่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยมากกว่า 1.5 ล้านคน แต่จ่ายเยียวยาได้แค่ 1.2 แสนคน ประกอบกับนายจ้างอีกเกือบ 3 แสนคน ยังไม่รับรองการหยุดงานของลูกจ้างกับสำนักงานประกันสังคมจึงทำให้ยังไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยา
ในส่วนนี้ได้ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยว่างงานรู้สึกไม่พอใจในความล่าช้าที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินในการดำรงชีวิตอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ต้องหยุดงานไม่มีรายได้
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ได้เข้าชี้แจงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน หลังจากนั้น ได้มีการออกคำสั่งการด่วนกระทรวงแรงงานที่ 219/2563 แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2563 ให้แต่งตั้งข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 1,200 ราย เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล กรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน เป็นการชั่วคราว
พร้อมรับรองผลการตรวจสอบ และรายงานต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ได้รวดเร็วมากขึ้น