“หุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ” ยกขบวนบุกตลาดเอเชีย รับวิถี New Normal ห่างไกลโควิด-19

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

ปัจจุบัน “หุ่นยนต์บริการ” (AI Service Robots) ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดทั่วโลก อันเนื่องมากจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวของทั่วโลก จึงทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI เติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งด้านการลงทุนและการวิจัยและพัฒนา และมีการนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง

International Federation of Robotics (IFR) หรือ สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ คาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกจะโตเพิ่มขึ้นเป็น 736,000 หน่วย ระหว่างปี 2019 – 2021 และจะมีมูลค่าเกิน 60 พันล้านเหรียญภายในปี 2024 โดยยุโรปเป็นผู้นำตลาดด้วยผู้ผลิต 290 ราย ตามมาด้วยอเมริกาเหนือมีผู้ผลิตประมาณ 240 ราย และเอเชียประมาณ 130 ราย สำหรับประเทศไทย ปริมาณความต้องการหุ่นยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2019 นำเข้าหุ่นยนต์ถึง 3,386 ยูนิต

ล่าสุด “ไต้หวัน” นำโดย Taiwan Excellence ตราสัญลักษณ์ที่รับประกันความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์จากไต้หวัน ได้เปิดตัว “หุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ” ถึง 5 แบบ สุดยอดนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ ได้แก่

“Enviro” ของ TECO หุ่นยนต์จัดส่งอาหารและดึงถาดตัวแรกของไต้หวัน รับน้ำหนักได้สูงสุด 40 กิโลกรัม มีเรดาร์ออปติคอล (Optical Radar) และเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก (Ultrasonic Sensors) เพื่อสแกนและจดจำสิ่งกีดขวาง ป้องกันการชน รวบรวมและคำนวณข้อมูลโดยใช้ระบบนำทางอัตโนมัติ AI สร้างแผนที่การเดินอย่างรวดเร็ว และทำงานต่อเนื่องได้นานกว่า 8 ชั่วโมง

“Mibot” ของ BenQ คือหุ่นยนต์นำส่งทางการแพทย์อัจฉริยะ สามารถขนส่งของเสีย ลดเวลาในการจัดส่ง ลดต้นทุนแรงงาน และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน สามารถใช้แอปพลิเคชันควบคุมระยะไกลได้อย่างง่ายดาย ทำความสะอาดได้ด้วยการเช็ดแอลกอฮอล์ นอกจากนั้น ยังจะสามารถขนส่งยา การฆ่าเชื้อ ให้ข้อมูลการศึกษาด้านสุขภาพ และฟังก์ชันอื่น ๆ ได้ในอนาคต

“AI-UVC Disinfection Robot” ของ Micro-Star International หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี ซึ่งถูกนำมาใช้แล้วในสถานพยาบาลและโรงพยาบาล สามารถฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดได้แม้ในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนหนาแน่น สามารถทำงานแทนบุคลากรพิเศษในช่วงของการป้องกันการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

“C01 Smart Service Robot” ของ GEOSAT ใช้อัลกอริทึม AI สำหรับระบบวิเคราะห์ สามารถจดจำความหมายตามธรรมชาติเพื่อตอบคำถามของลูกค้าเกี่ยวกับโรงแรมและร้านค้า สามารถพบเห็นได้ใน E-Da Outlet Mall ในเกาสง และยังมีนำไปใช้ในร้านค้าขนาดใหญ่ในฟิลิปปินส์อีกด้วย

“ASUS Zenbo Robot” ของ ASUS เป็นหุ่นยนต์บริการสำหรับบ้านตัวแรกที่เชื่อมต่อกับเครื่องใช้ในบ้านแบบสมาร์ทและแบบดั้งเดิม มีฟังก์ชันสำหรับความช่วยเหลือ ความบันเทิง และความเป็นเพื่อน หากสมาชิกในครอบครัวสูงอายุล้มลง การแจ้งเตือนจะถูกส่งไปยังสมาร์ทโฟนของสมาชิกในครอบครัวที่กำหนดไว้ล่วงหน้าทันที เพื่อสร้างความปลอดภัยในบ้านอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ธุรกิจเทคโนโลยี “ระบบไร้คนอัจฉริยะ” (Intelligent Unmanned Systems) นับเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของไต้หวัน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไต้หวันได้มีการลงทุนถึง 5 พันล้านเหรียญไต้หวันในปี 2018 เพื่อส่งเสริมการพัฒนา AI รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรม AI ที่สำคัญ 4 แห่ง, สร้างแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ AI ระดับประเทศ, ผลิตหุ่นยนต์ Maker Space และดำเนินโครงการ Moonshot เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ชาญฉลาด (Smart Living) โดย Taiwan Excellence มีหน้าที่คัดสรรและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ICT ที่มีคุณภาพมากมายออกสู่ทั่วโลก เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตยุค New Normal อย่างสมบูรณ์แบบ