(21 มิ.ย.64) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงจับกุมผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมของกลางผลิตภัณฑ์อาหารปลอมยี่ห้อต่างๆ เช่น น้ำมันปาล์ม จำนวน 900 ถุง, น้ำกระเทียมดอง จำนวน 800 ขวด ขวดพลาสติกสำหรับบรรจุอีก 20,000 ขวด และเครื่องจักรที่ใช้สำหรับผลิต
ทั้งนี้ทางบก.ปคบ.ออกตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพ หรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยร่วมกับอย. ตรวจสอบเลขสารบบอาหารและสถานที่ผลิต จนพบน้ำปลาที่ลักลอบผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนจะเข้าตรวจบ้านพักในพื้นที่หมู่ 5 ต.ห้วยกะปิ อ.เมือง จ.ชลบุรี พบว่าถูกดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ผลิตอาหารประเภท น้ำปลา, น้ำมันปาล์ม และน้ำกระเทียมดอง โดยที่ไม่ไดัรับอนุญาต จึงตรวจยึดของกลางทั้งหมดดังกล่าว
สอบสวน เจ้าของบ้านให้การรับสารภาพว่า ลักลอบผลิต น้ำปลา, น้ำส้มสายชู และน้ำกระเทียมดอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจริง สินค้าทั้งหมดจะนำส่งให้พ่อค้าตามตลาดนัดขายในราคาถูก
เจ้าหน้าที่จึงขยายผลไปตรวจยึด น้ำปลา 360 ขวด น้ำส้มสายชู 180 ขวด ยี่ห้อครัวไทย จากร้านขายของชำใน อ.ศรีราชา ที่รับซื้อจากโรงงานดังกล่าว จึงตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวนกก. 4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีต่อไป
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบการลักลอบสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ผู้ที่บริโภคเข้าไปก็ไม่รู้ว่าเป็นของปลอม และอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผสมในอาหาร หรือเกิดอันตรายจากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด หลังจากนี้ก็จะร่วมกับ อย.ดำเนินมาตราการเชิงรุก เพื่อจับกุมแหล่งผลิตเหล่านี้ต่อไป
ด้าน ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เครื่องปรุงรสนั้นเป็นของคู่ครัวกับสังคมไทย จนทำให้มีผู้ฉวยโอกาศลักลอบผลิตสินค้าปลอมที่ไม่มีคุณภาพออกมาขายตามตลาดนัด และร้านขายของชำในราคาถูก ทั้งๆที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาจทำให้เกิดอาการแพ้จากการใช้สีผสมอาหาร หรือ กรดอะซิติก
หากผู้ผลิตใช้สีย้อมผ้า หรือสีย้อมกระดาษที่มีโลหะหนักพวก ตะกั่ว ปรอท สารหนู สังกะสีอยู่ เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณสูง ก็จะทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ โลหิตจาง ถ้าสะสมมากขึ้นก็อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต ที่แขน ขา เพ้อ ชักกระตุก และหมดสติเฉียบพลันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอมซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือ ลักษณะพิเศษอย่างอื่น” ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท, ฐาน “ผลิตอาหาร ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
แหล่งข่าว https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6465652