วันนี้ (6 มี.ค. 2563) ที่งานประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ณ รร.เอบินาเฮาส์ ซ.วิภาวดี 64 ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงปัญหาความขัดแย้งของผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ พื้นที่ภาคตะวันออก ที่มามีนานแล้วและอาจมีมากขึ้นเมื่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เสร็จสมบูรณ์
ว่า เรื่องนี้ได้มีการศึกษาจนทราบถึงปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรให้กับภาคส่วนต่างๆ แล้ว ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ภายใต้ขอบเขตว่าถ้าปริมาณน้ำมีในระดับหนึ่งแต่ละฝ่ายก็รับได้เท่านี้ หรือหากปริมาณลดลงแต่ละฝ่ายจะลดลงได้เท่าไร โดยกำหนดไว้ในแหล่งเก็บน้ำแต่ละแห่ง ซึ่งในภาคตะวันออกมี 2 พื้นที่ที่อาจมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นเป็นพิเศษ คือที่พัทยา จ.ชลบุรี กับที่มาบตาพุด จ.ระยอง
โดยอาจต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น เปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด หรือการใช้น้ำแบบหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่แบบหมุนเวียนในโรงงาน เรื่องนี้ สทนช. สนับสนุนเต็มที่ ทั้งนี้ตนขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI น่าจะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนด้านการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย
“เดี๋ยวนี้ถูกลงแล้ว อันที่หนึ่งมีเทคโนโลยีมาใหม่ สองคือแน่นอนรัฐต้องไปส่งเสริมเพื่อให้มันไปได้ มันต้องมี Minimum (ขั้นต่ำ) อะไรของเขาอยู่ เป็นหลักเกณฑ์ เรากำลังจะศึกษาตรงนี้ว่า 1.สิ่งแวดล้อมต้องไม่กระทบนะ 2.ราคาต้องไม่แพงเกินไปนัก ผมเชื่อว่าทั้งพัทยาทั้งมาบตาพุด กลไกของราคาจะเป็นตัวควบคุมกำกับมาตรการการใช้น้ำด้วยเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นมันไม่ได้ ถ้าทางอุตสาหกรรมเขามีการใช้ Waste Water (น้ำทิ้ง) หรือว่า Reuse (นำกลับมาใช้ใหม่) ขึ้นมา อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจให้เขา ค่าน้ำอาจจะถูกลงก็ได้ เราใช้ผนวกซึ่งกันและกัน” นายสมเกียรติ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงคำถามกรณีการเก็บค่าน้ำให้สอดคล้องระหว่างความต้องการกำลังการผลิต เช่น ปีไหนที่น้ำน้อยมีภาวะแล้งอาจต้องเก็บค่าน้ำเพิ่มขึ้นสามารถทำได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพยายาม ปัจจุบันจะเห็นความแปรปรวนของสภาพอากาศ หรือ Climate Change เริ่มกระทบมาก บางปีจะเห็นว่าช่วงหนึ่งน้ำมากแต่อีกช่วงน้ำก็น้อย
ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ก็ทำได้พอสมควร เช่น การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาตามเวลาจริง หรือ Real Time โดยในด้านพลังงานไฟฟ้าสามารถทำได้แล้ว เช่น มีการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าในระดับชั่วโมงว่าลมจะพัดไปทางไหนบ้าง ทำให้สามารถปรับทิศทางกังหันลมเพื่อให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด