“แปจี” พืชในตระกูล “ถั่วแปบ” เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถือว่าเป็นพืชที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนแม่สอดมาอย่างยาวนาน และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญของเมนูอาหารพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ อย่าง “แกงแปจี” ที่มักจะทำกินกันแค่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคมเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการนำแปจีมาต่อยอดแปรรูปทำเป็น “แปจ่อเขียว” ขายเป็น ของดีของท้องถิ่น จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี…ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณาเป็นกรณีศึกษา…
อัญชนา กรรขำ เป็นเจ้าของ “ร้านถั่วทอดป้าติ่น” คนปัจจุบัน ซึ่งทำผลิตภัณฑ์ “แปจ่อเขียว” ออกจำหน่ายด้วย โดยรับช่วงสืบทอดกิจการขายถั่วพื้นบ้านต่อมาจากรุ่นคุณยาย และคุณแม่ (ป้าติ่น) โดยเจ้าตัวเล่าว่า…ในภาษาพม่าและไทใหญ่คำว่า “แป” หมายถึง “ถั่ว” ส่วนคำว่า “จี” นั้นคือ “ใหญ่” พูดง่าย ๆ ก็คือ “ถั่วที่มีขนาดใหญ่” ซึ่งถ้านำแปจีมา ทอด ก็จะเรียกว่า “แปจ่อ” แต่ถ้านำมา คั่ว ก็จะเรียกว่า “แปหล่อ” ทั้งนี้ ย้อนกลับไป 2 ช่วงอายุคน ถั่วแปจีเป็นอาหารทานเล่นที่ได้รับความนิยมของคนแม่สอดมากมาตั้งแต่ยุคนั้น โดยนิยมนำมาคั่วเป็นแปหล่อใส่ภาชนะวางขายกันหน้าบ้าน ตักแบ่งขายใส่กรวยกระดาษเล็ก ๆ
จากการที่อัญชนาคลุกคลีกับถั่วสารพัดชนิดที่ครอบครัวผลิตและจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น… แปหล่อ ถั่วปากอ้า ถั่วลันเตา ฯลฯ เมื่อกิจการตกทอดมาถึงเธอ ก็เริ่มมองเห็นช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่เป็นพืชท้องถิ่นชนิดนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่แค่ตักแล้วแพ็กใส่ถุงเพื่อให้ขาย ง่าย ๆ ก็เริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้ดูมีความสวยงาม ออกแบบแพ็กเกจให้มีรูปแบบที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ซื้อ และมีการบอกเล่าเรื่องราวของ “ถั่วแปจี” ให้มากขึ้น รวมไปถึงออกแบบตกแต่งหน้าร้านให้โดดเด่นสะดุดตาลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมา นอกจากนั้นยังใช้ช่องทาง “ออนไลน์” ในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของถั่วพื้นบ้านชนิดนี้ ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงคุณประโยชน์ของถั่วแปจี และยังรวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย
“ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลาย เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยนำมาปรุงเป็นรสต่าง ๆ อาทิ รสกระเทียม, รสสาหร่ายวาซาบิ, รสสมุนไพร รวมไปถึงยังนำไปผสมกับถั่วและเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เป็นถั่วยำพม่า ที่มีรสชาติจัดจ้าน ที่เป็นสูตรเฉพาะของที่ร้าน และนำไปพัฒนาเป็นเมนูเอาใจคนรักสุขภาพ อย่างคอร์นเฟลกส์แปจ่อเขียว เป็นต้น” อัญชนากล่าว
การผลิตและจำหน่าย ยังใช้วิธีการทำแบบดั้งเดิม ทำกันเอง แบบครอบครัว ไม่ได้ทำเป็น อุตสาหกรรม ซึ่งจะเน้นในเรื่องของคุณภาพของกระบวน การผลิตในทุกขั้นตอน เน้นให้สะอาดถูกหลักอนามัย และคัดสรรวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมาใช้ในการผลิต
เจ้าของผลิตภัณฑ์พูดถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้ “แปจ่อเขียว” และสินค้าอื่น ๆ ของร้านป้าติ่น ได้รับความนิยม เป็นที่รู้จักจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น ของดีเมืองตาก ของฝากจากแม่สอด ที่สำคัญยังทำให้เกษตรกรชาวแม่สอดมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากการที่มีคนรู้จักถั่วแปจ่อเขียวมากขึ้น มียอดจำหน่ายไปทั่วประเทศ
การทำ “แปจ่อเขียว” ขายนั้น ทุนเบื้องต้น ขึ้นกับขนาดของธุรกิจ ส่วน ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยราคาขาย แปจ่ออ่อนพิเศษ ราคากิโลกรัมละ 850 บาท หรือถุงขนาด 100 กรัม ราคา 100 บาท, แปจ่ออ่อน กิโลกรัมละ 750 บาท หรือถุงขนาด150 กรัม ราคา 100 บาท
แต่ถ้าเป็นแบบ แปจ่อเขียวขาว กิโลกรัมละ 450 บาท หรือถุงขนาด 200 กรัม ราคา 100 บาท ขณะที่ แปจ่อเหลือง ราคากิโลกรัมละ 120 บาท
อัญชนาแจกแจงว่า “แปจ่ออ่อนพิเศษ” เมล็ดถั่วที่มีสีเขียวจะมีรสชาติหวานกรอบมากที่สุด ถูกใจผู้สูงอายุ ถัดมาก็จะเป็น “แปจ่อ อ่อน” ผิวเมล็ดจะตึงขึ้นมาหน่อย เนื้อถั่วจะกรอบนุ่ม…ส่วนที่มีเมล็ดสีเขียวอมขาวก็จะคัดเป็น “แปจ่อเขียวขาว” จะมีรสชาติที่หวานมันกรอบ ขณะที่ “แปจ่อเหลือง” นั้นจะมีความกรอบและมัน ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีราคาที่แตกต่างกัน
วัสดุอุปกรณ์
ในการทำผลิตภัณฑ์ หลัก ๆ ก็มี… เมล็ดแปจี, เตาแก๊ส, กระทะ, ตะแกรงตักเมล็ดแปจี, ถาดขนาดใหญ่ นอกจากนั้นจะเป็นพวกเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมได้จากในครัว
ขั้นตอนการทำ “แปจ่อ” ประเภทต่าง ๆ
เริ่มจากนำเมล็ดแปจีที่รับซื้อมาจากเกษตรกรมาทำการแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เพื่อทำให้เปลือกแข็ง ๆ ที่หุ้มเนื้อถั่วแปจีล่อน ทำให้แกะเปลือกที่หุ้มนั้นออกได้ง่าย การแกะเปลือกหุ้มนั้นก็จะใช้แรงงานคนในการค่อย ๆ บีบแยกเปลือกแข็งที่หุ้มเนื้อถั่วออกทีละเมล็ด หลังจากที่ทำการแกะเปลือกเสร็จแล้วก็มาถึงขั้นตอนการคัดแยกตามสีของเมล็ดถั่ว โดยจะแยกออกเป็นเมล็ดถั่ว สีเหลือง (เหลืองอมขาว) และ สีเขียว
“ที่ต้องแยกสีของถั่วก็เพราะถั่วแปจีทั้ง 2 ชนิด นี้ในขั้นตอนกระบวนการทอดจะใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยเมล็ดที่มีสีเหลืองอมขาวจะสุกง่ายกว่าเมล็ดสีเขียว เพราะในเมล็ดสีเขียวนั้นมีน้ำมันมากกว่าจึงใช้เวลาในการทอดที่นาน กว่าเมล็ดถั่วจะสุกกรอบ” อัญชนากล่าว
เมื่อทำการคัดแยกเมล็ดถั่วเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมกระทะขึ้นตั้งเตาไฟ โดยจะใช้เตาที่ใช้เชื้อเพลิงจากไม้ฟืน ใส่น้ำมันลงไปในกระทะ รอจนน้ำมันเดือดก็ให้นำถั่วแปจีที่คัดแยกไว้ลง ไปทอดในน้ำมันใช้เวลาในการทอดประมาณ 5-8 นาที ถั่วแปจีก็จะสุกกรอบ เมื่อสุกกรอบได้ที่ดีแล้ว ใช้ตะแกรงตักขึ้นใส่ถาดผึ่งทิ้งไว้ รอ จนถั่วแปจีสะเด็ดน้ำมันดีแล้วก็ต้องมาทำการคัดเลือกแยกถั่วที่ไม่สวย และเมล็ดที่แตกหักออก เลือกเฉพาะถั่วแปจ่อที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เมื่อทำการคัดแยกเสร็จแล้วก็ทำการบรรจุใส่ถุง นำเกลือใส่ซองเล็กแยกไว้ต่างหากในถุง เพื่อให้ลูกค้าสามารถคลุกเคล้าผสมเองได้ตามความชอบ เสร็จแล้วก็ทำการแพ็กใส่บรรจุภัณฑ์ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ พร้อมขายได้ทันที
สำหรับใครที่สนใจ “แปจ่อเขียว” หรือผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ อาทิ แปจ่ออ่อนพิเศษ แปจ่ออ่อน แปจ่อเหลือง ของ “ร้านถั่วทอดป้าติ่น” ติดต่อไปได้ที่ เลขที่ 81 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก 63110 หรือทางเฟซบุ๊ก : แปจ่อเขียวป้าติ่น หรือทางไลน์ ID : krujeabmaesod หรือทางโทรศัพท์ 08-7206-0240 ทั้งนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณี
ศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่นำวัตถุดิบทางการเกษตร พืชท้องถิ่น อย่าง “แปจี” มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างน่าสนใจ.
…………………………………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/755106