วันนี้ (24 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและในพื้นที่แออัดให้สามารถเข้ารับการบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่คนมารวมตัวกันอยู่จำนวนมาก เช่น ชุมชนแออัด ที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว ตลาด และบ่อน นั้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสายวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงให้ความสำคัญการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่าเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อ และสามารถออกมาตรการหรือควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทรงมีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมผู้เชี่ยวชาญ สร้างห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อออกไปตรวจวิเคราะห์ผลได้นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงาน จะช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่างและระยะเวลาในการรอผลการวิเคราะห์ และได้พระราชทาน “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” ต้นแบบ ใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยฯ ค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ทราบผลที่รวดเร็ว เพื่อให้ปวงชนรอดพ้นจากโรคโควิด 19 ซึ่งได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในสถานการณ์จริงในการปฏิบัติการค้นหาเชิงรุกทันที กรณีพบผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (NBT) ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ ติดเชื้อโควิด 19 ในวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ตรวจจำนวน 222 ตัวอย่าง ได้ผลที่รวดเร็วตามที่คาดหมาย
วัตถุประสงค์ของรถพระราชทานนี้ เพื่อเสริมการปฏิบัติงานของบุคลการด้านสาธารณสุข สามารถเก็บตัวอย่าง และวิเคราะห์ผลการตรวจในพื้นที่ที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด อันเป็นการลดปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสิ่งส่งตรวจกลับมาตรวจที่หน่วยงาน ที่โดดเด่นคือสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) โดยใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 3 ชั่วโมง และวิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หาที่สุดมิได้ โดยตั้งแต่ที่ได้พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จนถึงปัจจุบัน รถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนส่งต่อน้ำพระราชหฤทัยเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนไทยทั่วประเทศ ด้วยปฏิบัติการตรวจบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงแบบเชิงรุก รวมกว่า 80,000 รายแล้ว เข้าถึงชุมชน ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ซึ่งกำลังจัดสร้างรถชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก จำนวน 7 คัน รวมเป็น 20 คัน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ และในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกอีกด้วย
สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ สะดวกและปลอดภัย มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ, ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet), เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (real-time PCR), ตู้แช่แข็ง -20องซาเซลเซียส, ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส, ช่องส่งตัวอย่าง,เครื่องเขย่าผสมสาร, เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน, ไมโครปิเปต (Micropipette), ระบบยูวีฆ่าเชื้อ, ระบบสื่อสารสองทาง, ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
นายแพทย์โอภาส กล่าวตอนท้ายว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้งานคู่กับรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยได้ เพื่อให้การออกตรวจเชื้อ COVID-19 มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ทำให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการจัดสร้างรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษคันนี้ ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลจาก : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค