ไทยยังขาดขาดบุคลากรที่มีความสามารถในทักษะสมัยใหม่ เพื่อป้อนอีอีซีกว่า 4 แสนคน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(27 สิงหาคม 2563) การดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงให้มาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่เพียงแต่ต้องมีมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน แต่ที่สุดคือ การสร้างบุคลากร ซึ่งหากขาดบุคลากรที่มีความสามารถในทักษะสมัยใหม่ก็ยากที่จะดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามา ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศาภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงออกมาตรการเพื่อผลิตบุคลากรให้มีเพียงพอในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีชั้นสูง

นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (อีอีซี-เอชดีซี) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การศึกษาความต้องการบุคลากรในอีอีซี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ระบบราง, พาณิชย์นาวี และธุรกิจโลจิสติกส์ พบว่าใน 5 ปี นับจากนี้ต้องการบุคลากร 4.75 แสนคน

สำหรับ แผนการสร้างบุคลากรนั้น สกพอ. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาใน อีอีซี 871 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียน 847 แห่ง อาชีวศึกษา 17 แห่ง และมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และเครือข่ายสถาบันศึกษา 84 แห่ง แบ่งเป็น อาชีวศึกษา 61 แห่ง มหาวิทยาลัย 9 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐ 14 แห่ง ร่วมกันผลิตบุคลากรรองรับความต้องการของ อีอีซี

แนวทางการสร้างบุคลากรระดับอาชีวศึกษา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

1. อีอีซีโมเดล หรือบุคลากรคุณภาพชั้นสูง จะมีภาคอุตสาหกรรมจับมือวิทยาลัยอาชีวะ 12 แห่ง พัฒนานักศึกษา โดยโรงงานที่เข้าร่วมจะสนับสนุนทุนการศึกษา มีค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาทุกเดือน และจบออกมาจะมีงานทำทันทีมีเงินเดือนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท จะสร้างบุคลากรได้ปีละ 6,000 คน

2. ระบบผลิตบุคลากรแบบปกติ จะผลิตบุคลากรไม่เข้มข้นเท่าแบบแรก มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอีอีซีเข้าร่วม 31 แห่ง ผลิตบุคลากรอาชีวศึกษาได้ 1 หมื่นคนต่อปี รวม 5 ปีผลิต 5 หมื่นคน

3. วิทยาลัยอาชีวศึกษานอกอีอีซีเข้าร่วม 100-200 แห่ง จะผลิตบุคลากรเข้ามารองรับส่วนที่เหลือ

ส่วนการผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรีขึ้นไปมี 2 รูปแบบ คือ

1.อีอีซีโมเดล ร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดย 5 ปี ผลิตบุคลากรได้ 66,000 คน จากความต้องการ 2.12 แสนคน

2.จะร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งประเทศผลิตบุคลากรระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่เหลือ

สำหรับการพัฒนาครู อาจารย์ จะมีโปรแกรมการฝึกอบรมครูอาจารย์ทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาในอีอีซี ครูจะปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาอีอีซีให้เด็กนักเรียนเข้าใจ และมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในสาขาที่อีอีซีต้องการ รวมทั้งมีแนวคิดต่อยอดแผนอีอีซีในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย จะร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ จัดทีมไปอบรมอาจารย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพราะเป็นอุตสาหกรรมรากฐานในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในอีอีซี

นอกจากนี้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำใน 5 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งจะเข้ามาร่วมกับอีอีซีในการฝึกอบรมพัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายอภิชาต กล่าวว่า สกพอ.จัดโครงการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อรีสกิล-อัพสกิล โดยเน้นสร้างช่างฝีมือที่มีทักษะสูงและบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยปี 2563 ได้รับงบประมาณ 200 ล้านบาท อบรมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน

สกพอ. มั่นใจว่าจากมาตรการผลิตบุคลากรที่กล่าวมานี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอีอีซี ให้มีความยั่งยืน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมทั้งยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตร การเรียน การสอน และความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตบุคลากร