ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 33.73% – อานิสงค์เก็งกำไรทองคำ

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 12,069.53 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 33.73% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 375,985.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.54% และยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 9.06% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 2,576.68 ล้านดอลลาร์ ลดลง 41.87% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 79,423.87 ล้านบาท ลดลง 43.07%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำเพิ่มขึ้นมาก มาจากการส่งออกทองคำเป็นมูลค่าสูงถึง 9,492.85 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 106.72% คิดเป็นสัดส่วน 78.65% ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น มาจากการทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี เพราะคนได้หันมาซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

นาจสุเมธ กล่าวว่า ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่หักทองคำออก และลดลงถึง 41.87% เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ระบาดไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว และผู้บริโภคมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย

ทั้งนี้ หากดูเป็นรายสินค้า พบว่า ปรับตัวลงทุกรายการ โดยเครื่องประดับเงิน ลด 8.29% เครื่องประดับทอง ลด 45.18% เพชรเจียระไน ลด 46.21% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลด 61.64% และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 53.66%

ขณะที่ตลาดส่งออก ก้ปรับตัวลดลงเกือบทุกตลาด โดยสหภาพยุโรป ลด 21.08% สหรัฐฯ ลด 25.51% ฮ่องกง ลด 61.02% ตะวันออกกลาง ลด 40.31% อินเดีย ลด 55.26% อาเซียน ลด 46.18% ญี่ปุ่น ลด 22.08% จีน ลด 26.72% ซึ่งถือว่าเริ่มดีขึ้น จากการที่จีนเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 7.50% โดยมีรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ที่เพิ่มขึ้น 24.62%

นายสุเมธ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ และยังไม่มีประเทศใดผลิตวัคซีนได้สำเร็จ อีกทั้งหลายประเทศยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จึงคาดว่าจะยังกระทบต่อการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 ให้ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว แม้จะมีคำสั่งซื้อมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากนัก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายและซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเป็นหลัก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่อาจกลับมาระบาดรอบใหม่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน และสงครามการค้าที่ต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี