วิถี QueQ : “สงสัยต้องพิสูจน์” ไม่หยุดคิดใหญ่ สตาร์ทอัพร้อยล้าน พนักงาน 100 ชีวิต

คัมภีร์เศรษฐี 4.0

“เป้าหมายจากนี้คิดไว้ใหญ่มาก คิดไว้ว่าเราควรมีบริการที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ จึงยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก…” นี่คือความคิดของซีอีโอ และคนก่อตั้ง QueQ “โจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” สตาร์ทอัพร้อยล้าน ที่ยังส่งต่อความเชื่อว่า “ทำได้” ให้กับพนักงาน 100 กว่าคนในขณะนี้

ตามสูตรของการเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) คือสำรวจว่าอะไรคือปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย และธุรกิจเราจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้อย่างไร อย่างที่ QueQ เห็นเรื่องการรอคิว ที่ไม่ควรเป็นเรื่องความเคยชินอีกต่อไป ไม่ว่าการไปร้านอาหาร ธนาคาร ไปหาหมอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ที่ทำให้เราเสียเวลา ทั้งที่เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเราทุกคน ดังนั้นต้องมีบริการช่วยบริหารเวลา

เป้าหมายชัดเจน ทำให้การตัดสินใจของ “โจ้ รังสรรค์” ที่เปลี่ยนการทำธุรกิจจากซอฟต์แวร์เฮาส์ มามุ่งสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีจัดคิวให้ผู้คน ด้วยแอปพลิเคชันจองคิวภายในไม่กี่ปี QueQ เติบโตจนสามารถระดมทุนระดับร้อยล้าน และขยายธุรกิจไปต่างประเทศ พร้อมเริ่มเกมใหม่

ถอดรหัสเกมสตาร์ทอัพ QueQ “สงสัยต้องพิสูจน์”

“โจ้ รังสรรค์” ถอดรหัสวิธีการสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพในแบบ QueQ ตั้งแต่เริ่มต้นว่า ในตอนแรกที่เริ่มทำธุรกิจ จะมีความสงสัยว่าเป็นไปได้จริงหรือ เพราะสิ่งที่คิดนั้นเริ่มที่ไทยเป็นที่แรก เป็นการสร้างตลาดใหม่ ที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ เป็นเกมใหม่ที่มีแต่คำถามเต็มไปหมด แต่ความเป็นสตาร์ทอัพ คือค่อยๆ พิสูจน์ไป และค่อยๆ กินตลาดเดิม

สงสัยแล้วทำอย่างไรต่อ คำตอบคืออย่าหยุด เพราะเกมของสตาร์ทอัพต้องเล่นต่อด้วยการฟังเสียงลูกค้า ฟังว่าผลเป็นอย่างไร มียอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากหรือไม่ ดาวน์โหลดแล้วมีการใช้งานหรือไม่ ร้านค้าและลูกค้าของร้านที่ใช้บริการระบบรู้สึกดีหรือไม่

“ถ้ายูสเซอร์แฮปปี้ คือเราเอาชนะผู้ใช้งานได้ เราสร้างอิมแพคได้ เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานจริงๆ QueQ เจ๋งที่ลูกค้าส่วนใหญ่อยากลงแอปฯ เพราะได้ยินเสียงลูกค้าของร้านพูดถึง และบอกต่อกัน มีการดาวน์โหลดกัน เรียกได้ว่ามาร์เก็ตติ้งคอสต์เราต่ำมาก เพราะผู้ใช้เป็นเซลล์ให้เรา”

แต่ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายในปีแรกสำหรับ QueQ เพราะสิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ จุดบริการมากที่สุด เพราะเมื่อคนดาวน์โหลดแอปฯ มาแล้ว ก็ต้องการใช้บริการได้หลายจุด และหลายบริการ ดังนั้นปีแรกที่มีร้านค้ามาร่วมใช้ระบบน้อย เมื่อคนดาวน์โหลดมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ลบทิ้ง แต่ในปีต่อมาจำนวนร้านมากขึ้น สถานที่บริการมาร่วมมากขึ้น สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น

“ปีแรกจุดบริการน้อย คนโหลดมาก็ลบทิ้ง ปีแรกเป็นปีที่ยากมาก ลำบากที่สุด จะเห็นว่า ถ้าจะเอาชนะตลาดให้ได้ปีแรกๆ ต้องใช้ความเชื่อเยอะมาก เพื่อให้ทีมทำ แต่ความเชื่ออย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ต้องมีเงินทุนด้วย เพราะธุรกิจคือ การลงทุน จนเมื่อต้นปี 2019 เริ่มได้รับเงินลงทุน ติด Series A ทำให้ QueQ โดดเด่น และกล้าขยายมากขึ้น ไปลงทุนในต่างประเทศทันที”

ประเทศที่ QueQ ไปบริการแล้ว คือ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว โดยในแต่ละประเทศเริ่มต้นให้บริการในกลุ่มธุรกิจที่ต่างกัน คือ ที่มาเลเซีย ไต้หวัน เริ่มบุกให้บริการในกลุ่มร้านอาหาร เช่นเดียวกับที่ ฟิลิปปินส์ ก็บุกในกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งมีปัญหาคนแน่นรอคิวนาน เช่น ร้านโรแมนติก บาร์บอย ซึ่งเป็นร้านปิ้งย่างดังของฟิลิปปินส์ ที่เห็นบริการของ QueQ ผ่านสื่อ ก็ติดต่อมาถามว่า QueQ จัดระบบคิวให้ได้หรือไม่ แน่นอนคำตอบคือได้ ส่วนที่กัมพูชา เริ่มจากโรงพยาบาล ส่วนลาวเริ่มที่ธนาคาร

นี่คือผลของการเปลี่ยนทางเดิน จากบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ที่เคยมีพนักงานมากที่สุด 30 คน ปัจจุบัน QueQ มีพนักงาน 100 คน แต่มูลค่าบริษัทโตกว่าเดิมหลายร้อยเท่า

ปัจจุบันในกลุ่มของ QueQ ยังมีแอปฯ เดย์เวิร์ค ที่มีการระดมไรเดอร์ เป็นนักศึกษาทั่วประเทศ ที่มีรถจักรยานยนต์อยู่แล้วมาหารายได้ส่งของ ส่งอาหาร ที่เป็นการลงทุนหลังจากระดมทุนรอบ Series A โดยขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเป็นไรเดอร์แล้วประมาณ 70,000 คน เพื่อตอบโจทย์ QueQ ในการให้บริการครบวงจร ตั้งแต่จองคิว สั่งและส่งอาหาร ในรูปแบบฟู้ด เดลิเวอรี่ และยังมีแอปฯ Makub สำหรับออฟฟิศให้พนักงานเช็กอิน เช็กเอาต์ เข้าออกทำงานผ่านมือถือ แทนที่การสแกนนิ้ว

รอปิดดีลร้อยล้าน พร้อมเล่นเกมใหญ่

บททดสอบการทำธุรกิจมีอยู่เสมอ อย่างในช่วงที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 QueQ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น เพราะร้านอาหารลูกค้าลดลง และผิดแผนในการขยายธุรกิจ จากที่หวังว่าจะระดมทุนรอบ Series B สำเร็จในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทุกอย่างจึงเลื่อนออกไป

แต่บริการของ QueQ ยังตอบโจทย์ เพราะโควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้คนต้องอยู่ห่างกัน สถานที่ต่างๆ ต้องลดความแออัดของผู้คนที่มาใช้บริการ การจัดการเวลาให้กับลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องไปรอคิวจึงเป็นโซลูชันที่จำเป็น ทำให้ตอนนี้ QueQ ยังเนื้อหอม การระดมทุนรอบใหม่จึงใกล้สำเร็จ เพราะมีกลุ่มทุนหลายกลุ่มสนใจ และกำลังจะปิดดีลกับเอกชนรายใหญ่รายหนึ่ง หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนคาดว่าจะได้เงินทุนก้อนใหม่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 155 ล้านบาท

คำตอบของโจทย์นี้คือ สตาร์ทอัพไทยคิดแบบอินเตอร์ แต่การระดมทุนต้องปรับแบบไทย นี่คือสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของ “โจ้ รังสรรค์” เพราะนักลงทุนไทยตัดสินใจไม่เหมือนนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา ที่สตาร์ทอัพมีไอเดียเงินทุนก็จะมา แต่สตาร์ทอัพไทยต้องเล่น 2 เกม คือต้องทำธุรกิจแบบเอสเอ็มอี เพื่อสร้างกำไรก่อน คิดโปรดักต์ที่ต้นทุนต้องไม่โตขึ้นตามตลาด หรือจำนวนผู้ใช้ จากนั้นต้องสร้างรายได้ก่อน แล้วค่อยระดมทุน เพราะกองทุนที่มาลงทุนไม่อยากมีความเสี่ยง

“เป้าหมายจากนี้คิดไว้ใหญ่มาก คิดไว้ว่าเราควรมีบริการที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ จึงยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก มีเรื่องที่เราต้องพยายาม อย่างเรื่องระบบบริการสาธารณสุข ที่ไม่ต้องไปรอคิว ให้หาหมอทางออนไลน์ รอรับยาที่บ้านได้ เพื่อให้คนไปโรงพยาบาลน้อยลง ลดการแออัด แต่คนไข้ยังได้รับบริการทางสุขภาพที่ดี”

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น มีความท้าทายคือ สร้างบริการให้ไปถึงมือคน ต้องให้คนรู้จักและมาใช้ QueQ จำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสดึงให้คนใช้ QueQ มากขึ้นก็ต้องรีบทำทันที เหมือนอย่างที่ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในเดือนมิถุนายน เชื่อมโยงกับระบบของอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ใครมีแอปฯ QueQ สามารถจองคิวเพื่อเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดแอปฯ QueQ รวมแล้ว 3 ล้านครั้ง มีคนใช้งานประจำ 30%

นี่คือการสร้างฐานผู้ใช้งาน จากสิ่งที่ผู้คนต้องใช้บริการในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงบริการที่จำเป็น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยหลักแค่สามารถบริหารจัดการเวลาที่มีค่าของทุกคนได้

นับจากนี้ หากแผนระดมทุนของ QueQ สำเร็จและได้เงินทุนก้อนใหม่ คือการเริ่มต้นก้าวสำคัญอีกครั้งของ QueQ ในรันเวย์ที่สามารถเล่นเกมที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

https://www.thairath.co.th/news/tech/startup/1919943

ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต

กราฟิก : Pradit Phulsarikij