“หมี่พัน เมืองลับแล” เมนูยอดนิยม ทำเป็นอาชีพเสริมสามารถสร้างรายได้อย่างงาม

ออร์เดิร์ฟ - อาหารว่าง

“หมี่พัน” เป็นเมนูที่แตกแขนงมาจากหมี่คุก อาหารพื้นบ้านของคนเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  มีส่วนประกอบหลัก คือ ข้าวแคบ แผ่นแป้งลักษณะคล้ายแผ่นโรตีสายไหม แต่จะบางกว่า แข็งกว่า ใสกว่า เป็นวิธีถนอมอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า เวลาไปเข้าสวนทำไร่ก็จะนำข้าวสวยหรือข้าวเหนียวมาปรุงรส แล้วพันกับข้าวแคบเป็นแท่งยาวสะดวกในการพกพา  ต่อมามีการประยุกต์โดยใช้เส้นหมี่ขาวลวก ปรุงรสชาติด้วยพริกป่น, น้ำปลา, น้ำตาล, มะนาว และที่ขาดไม่ได้คือ กระเทียมเจียวที่ช่วยเพิ่มความหอมและกลมกล่อม ปัจจุบันนิยมกันมากขึ้นจนกลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างงาม วันนี้ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ มาลัย สุขเกษม หรือ “มาลี” อายุ 40 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแม่บ้านน้ำท่วมร่วมใจ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และเจ้าของสูตร “หมี่พันลับแล” ซึ่งเล่าที่มาของอาชีพนี้ให้ฟังว่า เธอและสามีมีอาชีพหลัก ๆ คือทำสวนผลไม้ พวกรางสาด ลองกอง และทุเรียน พอฤดูผลไม้หมดหน้าออกผลผลิต ก็จะว่างงานและไม่มีรายได้อื่น ๆ ต้องเอาเงินที่เก็บไว้มาใช้จ่ายไปพลาง ๆ ก่อน แต่บางปีก็ประสบปัญหาเพราะผลผลิตที่ได้ไม่มีกำไรจึงไม่มีเงินเก็บ และต้องมองหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งเป็นเช่นนี้เกือบทุกบ้าน ดังนั้นหลายคนจึงเป็นสมาชิกแม่บ้านน้ำท่วมร่วมใจ ซึ่งเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านไปจำหน่ายตามที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ข้าวแคบ นอกจากนี้ก็ออกไปตระเวนขายผลิตภัณฑ์ตามงานโอทอป แต่ละเดือนสร้างรายได้ให้กับสมาชิกจำนวน
ไม่น้อย

“ทุกหลังคาเรือนทำข้าวแคบเป็นกันอยู่แล้ว เพราะกินกันเป็นประจำตั้งแต่เล็กจนโต จึงทำข้าวแคบมาส่งขายให้กับกลุ่มแม่บ้านน้ำท่วมร่วมใจ เพราะปัจจุบันมีคนนิยมรับประทานกันมาก ตลาดจึงขยายกว้างมากขึ้นและสามารถต่อยอดได้ เพราะข้าวแคบสามารถกินได้หลากหลายแบบ ทั้งเอาไปห่อข้าวเหนียวแล้วกินได้เลย หรือจะนำเอาแผ่นข้าวแคบนั้นมาห่อกับผัดหมี่ เรียกว่าหมี่พัน หรือถ้าใส่ไส้เป็นผักต่าง ๆ กินกับน้ำจิ้ม ก็จะเรียกว่าข้าวพันผัก หรือหากเอาไปปิ้ง ก็จะคล้ายกับข้าวเกรียบว่าว ไม่ว่าจะกินแบบไหน เรียกได้ว่าอร่อยได้ทุกที่ทุกเวลา”

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นจุดขายที่น่าสนใจให้กับลูกค้าผู้บริโภค ปัจจุบันข้าวแคบจึงมีหลากสีหลายรสให้เลือกชิม อาทิ รสเผ็ดมาก, รสงาเผ็ด, รสงาดำ, รสกุ้งแห้ง, รสใบเตย, รสแครอท, รสอัญชัน และฟักทอง เป็นต้น หรือใครอยากกินแบบดั้งเดิมที่มีรสชาติเค็ม ๆ ก็สามารถหากินได้

การทำหมี่พันลับแล มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการทำข้าวแคบ และการทำหมี่คลุก

อุปกรณ์

ที่ใช้ในการทำขายก็มี…เครื่องโม่แป้ง, หม้อปล่อง, ผ้าขาวบาง, ไม้ไผ่เหลาเป็นใบพาย,  หม้อสเตนเลส, เขียง, มีด, กะละมัง, ตะแกรง, ทัพพี, เตาแก๊ส, เสื่อหญ้าคา, ถาด และเชือก ซึ่งบางอย่างก็หยิบฉวยได้จากในครัว

วัตถุดิบ

ที่ใช้ในการทำ “ข้าวแคบ” ก็มี ข้าวสารเหนียว, งาดำ และเกลือป่น

ส่วนผสม

ที่ใช้ในการทำ “หมี่คลุก” มี เส้นหมี่ขาว, พริกป่น, มะนาว, น้ำปลา, น้ำตาลทราย, กระเทียมเจียว, กากหมู และผักชีใบยาว หรือผักชีฝรั่งซอย

ขั้นตอนการทำ “หมี่พันลับแล”

เริ่มทำข้าวแคบก่อน นำข้าวสารเหนียวมาล้างให้สะอาด แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน พอเช้าให้ล้างข้าวสารเหนียวที่แช่น้ำไว้มาล้างน้ำอีกครั้ง จากนั้นนำข้าวสารเหนียวมาโม่จนละเอียด จนได้น้ำแป้งข้าวเหนียวสำหรับทำข้าวแคบ แล้วผสมเกลือนิดหน่อยลงไปเพื่อให้ออกรสเค็มเล็กน้อย จัดการคนส่วนผสมให้เข้ากันดี แล้วตั้งพักไว้สักครู่  ทั้งนี้ หากต้องการเพิ่มสีสันสวยงามและความเผ็ดร้อน ก็ให้เติมงาดำ, พริก หรือใส่สีต่าง ๆ ที่ได้จากธรรมชาติลงไป เช่น สีม่วงจากดอกอัญชัน และสีเขียวจากใบเตย เป็นต้น

ต่อไปเตรียมเตาและหม้อ เอาผ้าขาวบางคลุมปากหม้อมัดให้แน่นตึง เจาะรูผ้าประมาณ 2 นิ้ว  (เหมือนกับหม้อข้าวเกรียบปากหม้อ) เติมน้ำลงไปให้ได้หนึ่งในสามของหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดตักแป้งที่เตรียมไว้ละเลงหรือไล้ลงบนผ้าเป็นแผ่นวงกลม พอแป้งสุกให้ใช้ไม้พายแซะแป้งขึ้น นำวางลงบนแผ่นหญ้าคา (แผ่นหญ้าคา คือ การนำหญ้าคามามัดเรียงต่อกันให้เป็นแผ่นยาว) ทำต่อเรื่อย ๆ จนเต็ม เสร็จแล้วนำไปตากแดด 1-2 วัน จนแป้งแห้ง แกะแป้งออกจากแผ่นหญ้าคาเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้สนิท สามารถเก็บไว้ทานได้เป็นเดือน

เมื่อได้ข้าวแคบเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็จะทำหมี่คลุกหรือหมี่ยำ เอาเส้นหมี่ขาวไปแช่น้ำ ก่อนจะนำมาลวกน้ำร้อนพอให้เส้นนุ่ม เทใส่ชาม ใส่ตามด้วยกระเทียมเจียว, กากหมู, พริกป่น, น้ำปลา, น้ำตาล, น้ำมะนาว และผักชีฝรั่งหั่น คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสชาติตามชอบ (ส่วนนี้สามารถปรับสูตรได้ตามความชอบ บางสูตรจะใส่ผักคะน้าหรือถั่วงอกลวก) แล้วหยิบหมี่ที่ยำลงบนแผ่นข้าวเเคบเป็นแนวยาว แล้วม้วนเเผ่นข้าวเเคบจนสุด เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ความอร่อยของหมี่พัน มาลี บอกว่า อยู่ที่ความเหนียวและรสเค็มของแผ่นข้าวแคบ ผสมผสานกับรสเปรี้ยวหวานเค็มของหมี่คลุกและความกรุบกรอบของกากหมู ซึ่งชาวลับแลทำกินเป็นอาหารว่างหรือรองท้องก่อนกินข้าว

สำหรับราคาขาย “หมี่พันลับแล” เจ้านี้ ขายชุดละ 30 บาท มี 5 ชิ้น

ใครต้องการพิสูจน์เมนูพื้นบ้านโบราณ “หมี่พันลับแล” หรือต้องการซื้อ “ข้าวแคบ” หลากรสสูตรดั้งเดิม ก็สามารถไปหาซื้อได้ตามงานโอทอป, งานกาชาด และงานประจำจังหวัดต่าง ๆ หากใครแวะเวียนไปที่อุตรดิตถ์ก็หาซื้อได้ที่กลุ่มแม่บ้านน้ำท่วมร่วมใจ ตั้งอยู่ที่ 34/2 ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ใครสนใจต้องการสั่งซื้อหรือให้ไปออกงานติดต่อสอบถาม “มาลี” เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” เจ้านี้ ได้ที่ โทร. 08-6211-2900 หรือที่ ID: 4415 Malee

…………………………………………………..
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/752493