“อ็อกซ์แฟม” เผย “โควิด-19” ทำลายเศรษฐกิจโลก จะทำให้ “คนจน” เพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคน

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

วันนี้ (9 เม.ย. 2563) รอยเตอร์ – มูลนิธิอ็อกซ์แฟม (Oxfam) ได้เผยแพร่รายงานชิ้นใหม่ในวันนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในสัปดาห์หน้า โดยมุ่งศึกษาผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนาที่มีต่อปัญหาความยากจนทั่วโลก เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่ลดลง

“วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นถือว่าย่ำแย่ยิ่งกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 เสียอีก” รายงานระบุ

“จากการประเมินพบว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ระดับความยากจนทั่วโลกก็จะพุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1990”

อ็อกซ์แฟม คาดว่า การระบาดของไวรัสจะทำให้บางประเทศมีฐานะยากจนลงจนเทียบได้กับเมื่อช่วง 3 ทศวรรษก่อน

คณะผู้วิจัยได้อ้างอิงถึงเส้นความยากจน (poverty lines) หลายระดับตามคำนิยามของเวิลด์แบงก์ ซึ่งครอบคลุมผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันขึ้นไปจนถึงต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ทั้งนี้ หากรายได้ลดลง 20% ซึ่งเป็นฉากทัศน์ขั้นเลวร้ายที่สุด จำนวนประชากรที่ยากจนสุดขีด (extreme poverty) จะเพิ่มขึ้น 434 ล้านคน รวมเป็น 922 ล้านคนทั่วโลก และภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้จะมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันเพิ่มขึ้น 548 ล้านคน รวมเป็นเกือบๆ 4,000 ล้านคน

ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมักประกอบอาชีพแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งทำให้พวกเธอเข้าถึงสิทธิแรงงานเพียงเล็กน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย

“ประชากรที่ยากจนที่สุดเหล่านี้ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีสิทธิ์ลางานหรือสะสมปัจจัยยังชีพ” รายงานระบุ พร้อมชี้ว่าแรงงานนอกระบบกว่า 2,000 ล้านคนไม่มีสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง

เวิลด์แบงก์เตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะมีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคน หากสถานการณ์ไวรัสย่ำแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่

เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัส อ็อกซ์แฟมได้เสนอแผนปฏิบัติการ 6 ข้อ ซึ่งรวมถึงการแจกเงินสดหรือเงินอุดหนุนแก่พลเมืองและภาคธุรกิจที่มีความเดือดร้อน, การยกหนี้, การสนับสนุนจากไอเอ็มเอฟ และการยกระดับความช่วยเหลือต่างๆ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์, ผลกำไรพิเศษ และสินค้าทางการเงินแบบเก็งกำไร (speculative financial products) เพื่อระดมเงินทุนที่จำเป็น

อ็อกซ์แฟม ระบุด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องระดมเงินทุนอย่างน้อยๆ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถต่อสู้เชื้อไวรัสได้