เกินคาด! พายุฤดูร้อนทำน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ 123 ล้านลบ.ม. ภาคอีสานได้น้ำฝนมาก

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่3-4ของเดือนพ.ค.ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำฝนมาเติมเขื่อนด้วย
วันนี้ (ศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ว่าช่วงเดือนมี.ค.มีฝนตกจากพายุฤดูร้อน ช่วยสถานการณ์ภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศกว่า123ล้านลบ.ม.

รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์มีพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกฟ้าคะนอง เกือบทุกภาคในช่วงวันที่20-23มี.ค.และประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่3-4ของเดือนพ.ค.ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำฝนมาเติมเขื่อนด้วย ทั้งนี้อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิ.ย.-เดือนก.ค.อีกด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเม.ย.นี้แม้มีฝนตกอาจยังน้อย จึงได้เสนอขออนุมัติกนช.ผันน้ำจากลุ่มแม่กลอง เพิ่มอีก500ล้านลบ.ม. รวมเป็น1 พันล้านลบ.ม.โดยไม่กระทบกับการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มแม่กลอง เพื่อมาเสริมลุ่มน้ำเจ้าพระยา รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม และเพื่อการเกษตร จนถึงวันที่ 30 เม.ย.จากเดิมได้ขอผันมา850ล้านลบ.ม.ระหว่างเดือนพ.ย.62จนสิ้นสุดฤดูแล้ง เม.ย.63 แต่ปริมาณน้ำหายระหว่างทางไปกว่า185ล้านลบ.ม.ในเส้นทางน้ำผ่าน

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าปัจจุบันปริมาณน้ำทั่วประเทศในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำรวมกัน39,495ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ52ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 15,775ล้านลบ.ม.ในส่วน4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักฯมีน้ำรวมกัน9,536ล้านลบ.ม. ร้อยละ39 เป็นน้ำใช้การได้2,840ล้านลบ.ม.ซึ่งผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ใช้น้ำไปแล้ว 13,006ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ73 ส่วนลุ่มเจ้าพระยา ใช้น้ำไปแล้ว 3,509ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้ได้ประเมินสถานกาณ์ว่าวันที่1พ.ค. ปริมาณน้ำ 4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำใช้การได้ 2,072ล้านลบ.ม.และได้เตรียมรับมือไว้กรณีเกิดวิกฤติสุด หากมีฝนน้อย ภาวะฝนทิ้งช่วงโดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงเดือนพ.ค. -ก.ค.ปริมาณ1,656 ล้านลบ.ม.จะเหลือน้ำ421ล้านลบ.ม. จัดส่งน้ำ 310ล้านลบ.ม.ให้พื้นที่ลุ่มบางระกำกว่า2.6แสนไร่ ได้ปลูกข้าวก่อน วันที่1 เม.ย.เพื่อหลีกอุทกภัยช่วงฤดูน้ำหลากเดือนก.ย. ทำให้ 4เขื่อนเหลือน้ำ 111ล้านลบ.ม.ดังนั้นจึงไม่สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำ12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ได้ปลูกข้าวก่อนเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถปลูกได้เมื่อมีฝนตกต้องตามฤดูกาล

สำหรับพื้นที่3จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ผ่านโครงข่ายเชื่อมโยงน้ำ ระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ โดยสูบผันน้ำข้ามลุ่มจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ 10 ล้านลบ.ม.เป็นการจัดการน้ำแบบอ่างพวง มายังอ่างหนองปลาไหล อ่างคลองใหญ่ ทำให้เพียงพอกับความต้องการอุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม

ด้านนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าจากคาดการณ์ปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ 5-10% แต่กลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.จนถึงปัจจุบัน มีพายุฤดูร้อนเข้ามาถึง3ลูกแล้ว ซึ่งเกินความคาดหมายโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานได้น้ำฝนไปมาก โดยช่วงวันที่20-23มี.ค.มีฝนตกมากขึ้นในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และขณะนี้ปริมาณฝนตกเฉลี่ยเกินกว่าค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ รวมทั้งคาดว่าช่วงเดือนส.ค.จะมีพายุเข้าไทย1-2ลูก