“ไส้อั่วปลานิลผสมสมุนไพร” อาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี ​​​​​​​

อาหารคาว

ปัจจุบันเมื่อผู้คนหันมาสนใจสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ส่งผลให้เมนูอาหารเพื่อสุขภาพผุดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มธัญพืช, น้ำผลไม้, ข้าวกล้องสมุนไพร และอื่น ๆ อีกสารพัด รวมทั้ง “ไส้อั่ว” ที่เราเห็นมีขายกันทั่วไป ก็สามารถนำมาพลิกแพลงดัดแปลงให้เกิดความหลากหลาย เป็นการชูจุดเด่นเน้นจุดขาย ด้วยการนำวัตถุดิบอย่างปลานิล มาผสมสมุนไพรที่มีประโยชน์ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี วันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน“ นำข้อมูลมาฝากกัน…

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ คือ วิโรจน์  ศรีเจริญจิตร ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงดงตะเคียน เล่าถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ไส้อั่วปลานิลให้ฟังว่า อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งเลี้ยงปลานิลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงราย เกษตรกรเกือบทั้งอำเภอขุดบ่อเลี้ยงปลากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำให้มีผลผลิตปลานิลออกสู่ตลาดปีละหลายร้อยหลายพันตัน แต่เมื่อเจอสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจชาวบ้านที่เลี้ยงปลาประสบกับภาวะขาดทุน ปลาล้นตลาด ราคาตกต่ำ ตนจึงคิดหาทางช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการประสานงานกับประมงจังหวัดเชียงรายขณะนั้นมาช่วยเหลือ

“จากนั้นตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงดงตะเคียน ได้รับการอบรมด้านการแปรรูปอาหารจากปลาจากหน่วยงานราชการเเละภาคเอกชนเพื่อประกอบเป็นอาชีพของราษฏรในหมูบ้านดงตะเคียน แล้วสรุปออกมาเป็นไส้อั่วปลา เพราะไส้อั่วเป็นอาหารพื้นเมืองที่คนภาคเหนือนิยมกินกัน ที่พบเห็นโดยมากจะเป็นไส้อั่วหมู แต่ไส้อั่วปลายังไม่มีใครทำขาย ในตอนแรกยอมรับว่าผลิตออกมาขายคนในหมู่บ้านได้รับเสียงตอบรับไม่ค่อยดี เพราะคนไม่รู้จัก แต่ก็อดทนทำต่อไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งได้รับการติดต่อให้ไปออกงานประจำจังหวัดเชียงรายและงานอื่น ๆ ปรากฎว่ากระแสตอบดีมาก มีการบอกปากต่อปากขยายไปเป็นวงกว้างทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ ออร์เดอร์เข้ามามากมาย รสชาติของไส้อั่วปลาจะมีรสเค็มนำและเผ็ดเล็กน้อย ชาวล้านนานิยมทานกับข้าวเหนียว”

อุปกรณ์

ที่ใช้ในการทำไส้อั่วปลา หลัก ๆ มีดังนี้…เครื่องยัดไส้, กะละมัง, ทัพพี, ถังน้ำ, หม้อนึ่ง, เครื่องปั่น, เตาอบหรือเตาถ่าน และอุปกรณ์ครัวเบ็ดเตล็ดสามารถหยิบยืมได้จากในครัว

วัตถุดิบ

ที่ใช้ ตามสูตรก็มี…เนื้อปลานิลสดล้วน ๆ 10 กิโลกรัม ต่อพริกแกง 1 กิโลกรัม, ไส้หมู, น้ำปลา, ซีอิ๊วขาว, น้ำตาล, ต้นหอม, ผักชี, ใบมะกรูด ส่วนผสมเครื่องแกง มีพริกแห้งเม็ดใหญ่, หอมแดง กระเทียม, ข่า, ตะไคร้, ขมิ้น และเกลือ

ขั้นตอนการทำ “ไส้อั่วปลานิล”

เริ่มจากนำไส้หมูมาล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีกลิ่น

ทำการกลับด้านเอาส่วนของด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก แล้วนำไปคั้นกับมะขามเปียก เพื่อไม่ให้ไส้มีรสขม ล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนกลับไส้เหมือนเดิมพักไว้

ปลานิลสดมาล้างทำความสะอาด ขอดเกล็ด แล่เอาเฉพาะเนื้อ นำมาสับหรือบดพอหยาบ ๆ ตั้งพักไว้สักครู่  นำใบมะกรูด ต้นหอม และผักชีมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วซอยเตรียมไว้

ต่อไปเป็นการทำพริกแกง

โดยนำสมุนไพรที่เตรียมไว้มาล้างให้สะอาด เช่น ข่า, ตะไคร้, หอมแดง, กระเทียม, ขมิ้น, แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำแล้วหั่นเตรียมไว้ พริกชี้ฟ้าแห้งเม็ดใหญ่ ผ่าเอาเม็ดออกแล้วแช่น้ำให้นิ่ม สงขึ้นสะเด็ดน้ำ แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดโขลกรวมกันให้ละเอียด

นำพริกแกงสมุนไพรที่โขลกเสร็จแล้วมาผสมกับเนื้อปลาที่บดเตรียมไว้ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาล ใส่ตามด้วยใบมะกรูดซอย, ต้นหอมซอย และผักชีซอย แล้วคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี ก่อนจะนำไปยัดลงในไส้หมูยาวด้วยเครื่องยัดไส้อัตโนมัติ ทำจนส่วนผสมหมด ก็จะได้ไส้อั่วปลาเป็นขด ๆ นำไส้อั่วปลาที่ได้ไปนึ่งในลังถึง ประมาณ 15 นาที โดยขณะนึ่งใช้ไม้จิ้มฟันแทงไส้ให้มีการระบายน้ำในไส้อั่วออกมาเพื่อกันไม่ให้ไส้แตก

หลังจากนั้นก็นำมาทาสีผสมอาหารเล็กน้อย โดยใช้สีผสมอาหารสีแสด ผสมกับน้ำแล้วนำไส้อั่วลงจุ่มแล้วนำขึ้นพักไว้ ที่ทำอย่างนี้เพื่อให้ไส้อั่วปลามีสีสันสวยงาม  เมื่อต้องการจะรับประทานให้นำไปย่างเตาถ่านหรืออบในเตาอบที่ใช้สำหรับอบไส้อั่ว ถ้าย่างเตาถ่านให้ใช้เปลือกมะพร้าวแห้งผสมลงไปด้วย ย่างไฟอ่อน ก็จะทำให้ไส้อั่วมีสีสวยและกลิ่นหอม

เคล็ดลับความอร่อยของไส้อั่วปลา วิโรจน์ บอกว่าอยู่ที่รสชาติความกลมกล่อมของสมุนไพรไทยเข้มข้น หอม เข้าเนื้อปลา และไส้อั่วนี้ก็สามารถจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานเป็นเดือน นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกหลายอย่างเช่น ห่อหมกปลานิล, ปลานิลแดดเดียว เป็นต้น

ราคาขาย “ไส้อั่วปลานิล” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงดงตะเคียน ขายกิโลกรัมละ 300 บาท

ใครสนใจจะชิม “ไส้อั่วปลานิล” สูตรสมุนไพรของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเศรษกิจพอเพียงดงตะเคียน ก็แวะเวียนไปลองชิมกันดูได้ตามงานโอทอปและงานประจำจังหวัดต่าง ๆ แหล่งผลิตตั้งอยู่ที่ 56 หมู่ที่ 21 ตำบลเจริญเมือง  อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต้องการสอบถามข้อมูลหรือสั่งออร์เดอร์ เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” เจ้านี้ทางโทรศัพท์ติดต่อ 08-9952-0817, 08-3592-6017 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” จากการพลิกแพลง.

…………………………………….
เชาวลี ชุมขำา : เรื่อง
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/782189