ไส้เดือนเปลี่ยนชีวิต!! “โป้ง โมเดิร์นด็อก” เรื่อง “ขี้ๆ” ที่สร้างรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน

แนะนำอาชีพเสริม

เจาะใจ “โป้ง ปวิณ” มือกลองโมเดิร์นด็อก กับบทบาทใหม่ในฐานะ “คนเลี้ยงไส้เดือน” เก็บขี้ขาย สร้างรายได้ครึ่งแสนต่อเดือน อยู่รอดได้แม้โควิด-19 โหมกระหน่ำ จนไม่สามารถเล่นดนตรีได้ดังเดิม สะท้อนบทเรียนจากวิกฤต “เราไม่ควรฝากอะไรไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”

แค่ “ขี้” ก็ทำเงินได้หลายหมื่น!!

“เป็นรายได้เดียวของตอนนี้ เพราะไม่ได้ตีกลองมา 6 เดือน (หัวเราะ) ถ้าเทียบกับชั่วโมงที่เราทำงาน มันก็ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีพอสมควร สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ สำหรับการทำงานอาทิตย์ละ 3 วัน หลักหมื่นกลางๆ 40,000-50,000 เฉลี่ยต่อเดือน ถ้าคนที่ทำเต็มตัว ทำใหญ่โตมากๆ ระบบจัดการดีๆ ก็น่าจะเป็นตัวเลข 6 หลักได้เลย”

“โป้ง-ปวิณ สุวรรณชีพ” มือกลองวัย 48 ปีของวง “โมเดิร์นด็อก” วงดนตรีระดับตำนานของไทย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงอีกหนึ่งบทบาทใหม่ของเขาที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้

เพราะนอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว ล่าสุดเขายังหันมาเอาดีด้านการ “เลี้ยงไส้เดือน” เพื่อนำมูลมาขายเป็นปุ๋ยในแบรนด์ “คืนดิน” สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็น “รายได้หลัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่สามารถหาเงินจากการเล่นดนตรีได้

“ตัวแบรนด์น่าจะเริ่มมาปลายๆ ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ขายจริงจังนะ ไม่ได้ตั้งใจขาย (หัวเราะ) จนกระทั่งมันถึงช่วงจนกระทั่งช่วงโควิด-19 ที่งานดนตรีมันทำไม่ได้ ถึงจะเริ่มขายจริงจัง เริ่มมีการทำแพกเกจจิ้ง ขี้ไส้เดือนที่ใส่ถังใหญ่ๆ วางไว้เต็มบ้านไปหมด ก็เลยคิดว่าจริงๆ ที่วางอยู่มันก็คือเงินทั้งนั้น เลยลองทำแบรนด์ขายดูดีกว่า เผื่อมันจะต่อยอดไปให้มันโต

เริ่มต้นต้องมีตัวไส้เดือนก่อน พันธุ์ที่คนเขานิยมเลี้ยงเพื่อเอาขี้มันมาใช้ใส่ต้นไม้ เรียกว่า แอฟริกัน ไนต์ ครอเลอร์ (African Night Crawler) คนเลี้ยงไส้เดือนจะเรียกว่า AF เป็นไส้เดือนตัวใหญ่ๆ วิธีเลี้ยงก็คือเขาจะกินข้างล่าง กินเสร็จแล้วขึ้นมาถ่ายไว้ข้างบน แล้วก็กลับลงไปกิน เวลาจัดการกับผลผลิตมันก็จะง่าย ถึงเวลาปุ๊บก็ปาดเอาขี้ที่ร่วนๆ ไปแพกใส่ถุงขาย ไส้เดือนก็อยู่ข้างล่างกินต่อไป ถึงเวลาก็เติมอาหารลงไป เป็นวงจรหมุนไปแบบนี้


แล้วก็ต้องมีบ้านของไส้เดือน คือ กระบะสีดำ จะใช้เป็นความจุประมาณ 30 กว่าลิตร เขาก็จะใส่ไส้เดือนไปสัก 250-300 กรัม ไส้เดือนมันอยู่ในดิน แต่ถ้าเอามาเลี้ยงในดินจริงๆ คงจัดการลำบาก ที่เมืองไทยจะนิยมการใช้ขี้วัวนม เอามาใส่ในกระบะ มันก็จะเป็นทั้งที่อยู่ของไส้เดือน และเป็นทั้งอาหารด้วย แล้วก็รีไซเคิลใหม่ตลอด ไส้เดือนมันจะอยู่ได้สัก 4-5 ปี

พอมันเริ่มขายได้จริงๆ ไม่ได้เอาใบไม้มาเป็นอาหารหลักแล้ว เพราะตอนที่แยกออกมามันก็จะมีใบไม้ที่กินไม่หมด มีเศษก้านใบ ซึ่งมันยากต่อการจัดการในการที่จะต้องเอาขี้ไส้เดือนไปให้ผู้บริโภคที่เขาต้องการขี้ไส้เดือนจริงๆ ถ้าจะเอาให้มันหมดจดก็อาจจะต้องจัดการวุ่นวายพอสมควร ตอนนี้เลยแยก กำจัดใบไม้ก็เลี้ยงแบบนึง พอกินใบไม้หมดเราก็เอามาใส่ในบ้านเราเอง ไม่ได้เอาไปขายเพราะมันมีเศษปนไปเยอะพอสมควร คุณภาพของขี้ไส้เดือนมันอาจจะดร็อปไป”

จากแรงงานไร้ขาที่มีอยู่เพียง 6 กระบะในตอนแรก ปัจจุบันต่อยอดกลายเป็น 200 กระบะ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2 ตันต่อเดือน สร้างรายได้นับหมื่นต่อเดือน

“มันเริ่มจาก 6 กระบะ แล้วมันก็โตเร็วมาก แทบไม่ได้ยุ่งอะไรกับมันเลย แค่เอาขี้วัวเติมลงไป พอเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตจาก 6 เป็น 8 เป็น 14 ปัจจุบันมีเกือบๆ 200 แล้วก็ขยายจนเป็นแถวๆ จากโรงรถจอดรถได้ 4 คันก็ต้องเอารถออกไป แล้วก็กลายเป็นเลี้ยงไส้เดือนแทน

หน้าที่ของเราคือ จัดการเวลาที่มันขี้ออกมามันก็จะอยู่ในขี้ เท่ากับว่า มันอยู่ในของเสียตัวมันเอง มันก็ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดีของไส้เดือน เราก็ต้องคอยเก็บเอาขี้ออก ซึ่งขี้มันมีประโยชน์กับต้นไม้ หน้าที่มีแค่นั้น แต่ Circle ของการจัดการมันอยู่ประมาณ 7-10 วัน แล้วแต่ว่ามันกินเร็วกินช้าแค่ไหน ไม่ถึงขนาดว่าต้องใช้เวลาทุกวัน ด้วยจำนวนกระบะไส้เดือนที่มันมีตอนนี้ ปกติอาทิตย์นึงก็จะทำงานประมาณ 3 วัน ต้องศึกษาและคอยดู

ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนที่ปลูกต้นไม้ที่บ้าน ปลูกผักกินเอง เพราะว่าต้นทุนมันอาจจะสูงเกินไปสำหรับเกษตรกร ขายเป็นกิโลครับก็เฉลี่ยประมาณ 30 บาท มีถุงเล็ก ถุงกลาง ถุงใหญ่ หลังๆ เริ่มมีคนสั่งเยอะๆ ก็รู้สึกว่าเสียดายถุง ไปถึงก็กรีดถุงทิ้งแล้วก็โยนทิ้งกลายเป็นขยะ ก็เลยขายเป็นถังให้ไปจะเอาถังไปใช้ต่อหรือจะเอามาคืนก็ได้ บางทีถ้าเราสร้างขยะเยอะๆ มันก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สำหรับเราเองด้วย สำหรับคนอื่นด้วย

และเมื่อถามถึงฟีดแบ็กจากลูกค้า ต้องบอกเลยว่า ออเดอร์เข้ารัวๆ จนผลิตไม่ทัน!

“ลูกค้าก็ชอบกันนะครับ ขี้ไส้เดือนมันจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อมันสดใหม่ เวลาที่อาหารต่างๆ มันผ่านลำตัวไส้เดือน มันจะมีจุลินทรีย์ในตัวไส้เดือนที่มันย่อยอาหารพวกนี้ติดออกมาด้วย แปลว่า ถ้ายิ่งสดใหม่เท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดีกับต้นไม้มากเท่านั้น

พอดีว่าเราทำกันเอง แล้วก็ทำไม่ทันพูดตรงๆ (หัวเราะ) ทำปุ๊บก็ขายเลย ไม่เคยมีสต๊อกไว้ เพราะฉะนั้นความสดของจุลินทรีย์พวกนี้มันก็น่าจะใหม่มากๆ เรียกว่าออกจากตูดปุ๊บก็ไปเลย (หัวเราะ)”

“โควิด-19” พลิกชีวิตนักดนตรี

“งานสุดท้ายคืองานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ ช่วงธันวาเป็นช่วงงานเยอะมากๆ เดินทางเล่นคอนเสิร์ตกันเยอะมาก พองานปีใหม่ปุ๊บส่วนใหญ่จะไปเที่ยวกัน พักไปก 1-2 เดือน จะกลับมางานเยอะอีกทีช่วงมีนา-เมษา ซึ่งเป็นช่วงสงกรานต์ ก็แพลนกันไว้ว่าก็คงเล่นคอนเสิร์ตเยอะๆ แล้วกลางปีก็มีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ อีกสักงานนึง แต่ทีนี้ทุกอย่างอยู่ดีๆ จากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทุกคนก็ตกใจกันหมด”

อย่างที่หลายคนทราบกันดี ว่า ชายผู้นี้คือหนึ่งในสมาชิกของ “โมเดิร์นด็อก” วงดนตรีแถวหน้าของเมืองไทย แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น อาชีพนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกงานที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ซึ่งเขาได้สะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ทีมข่าวว่า โควิด-19 ได้มอบบทเรียนราคาแพง และทำให้มุมมองการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

[ คอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนจะเจอวิกฤตโควิดเล่นงาน ]

“นักดนตรีคงรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ได้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน อีกอย่างมันก็ใช้แรงงานประมาณนึง ถ้าอายุเราเยอะๆ ความนิยมมันลดลง หรือว่ากำลังเราอาจจะไม่ได้เหมือนตอนเด็กๆ เราอาจจะตะโดนไม่ดังเท่า 10 ปีที่แล้ว โชว์เรามันก็จำเป็นที่จะเปลี่ยนรูปแบบ มันก็ต้องมีวันนึงที่งานมันอาจจะไม่ได้เยอะเหมือนสมัยก่อนแล้ว ก็ต้องทำใจไว้ก่อน

แต่ว่าโควิด-19 มันเหมือนมาตบหลังเราให้รู้สึกตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าอาจจะพึ่งสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราแค่นั้นไม่ได้ ต้องมองข้ามช็อตไปอีก 2-3 ช็อตเผื่อไว้ จริงๆ มันก็สอนเยอะเหมือนกันนะ เพราะก่อนหน้านี้ เวลาทำอะไรก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันง่ายไปหมด เล่นคอนเสิร์ตสักเดือนสองเดือน ไปแข่งกีฬาเมืองนอก มันก็รู้สึกว่าสบายดีนะ ใช้ชีวิตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนทุกอย่างมันหาสมดุลเจอแล้ว เราไม่ต้องทำงานมากมายเราก็ทำงานเท่าที่จำเป็นจริงๆ

แล้วอยู่ดีๆ วันนึงงานพวกนั้นมันหายไปหมดเลย จากที่เราเคยซัปพอร์ตลูกน้องเราได้ เราก็ไม่สามารถแล้ว เหมือนเราไม่เคยมีแผน 2 ไว้เลย เราคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันๆ จนมันเป็นกิจวัตรมันไม่ใช่แล้วสำหรับตอนนี้ เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิด Accident อะไรขึ้นมา มันมาเกิดตอนนี้มันก็ยังทำให้เราคิดถึงแผน 2 แผน 3 ไว้ ดีกว่าที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดอะไรเลย แล้วก็ยังใช้ชีวิตสบายๆ ไปเรื่อยๆ อันนี้คือแนวความคิดที่คิดว่า เราไม่ควรฝากอะไรไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”

เมื่อถามถึงสมาชิกในวงคนอื่นๆ อย่าง “ป๊อด-ธนชัย อุชชิน” และ “เมธี น้อยจินดา” โดยทั้งคู่ได้ใช้ความถนัดในงานศิลปะ สร้างรายได้ในช่วงที่เล่นดนตรีไม่ได้อีกทางหนึ่ง

“ป๊อด กับเมธีเขาใช้เวลากับศิลปะเยอะ แล้วเขาก็มีการแสดงงานของเขาอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะไปแนวนั้น เพราะเขาแสดงงานก็ไม่ได้ต้องเจอคนมากมาย แล้วงานศิลปะก็สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย นั่นก็คือ รายได้ทางนึง ป๊อด ก็มีร้องเพลงกับคนนู้นคนนี้ แต่งานก็หายหมดเหมือนกัน โดนกันหมด มีช่วงที่เราไม่ไหวกันแล้วจริงๆ พี่ป๊อดจัดรายการวิทยุอยู่ก็ชวนกันไปเล่นสดแก้เหงากัน

จริงๆ มีคนจะให้เล่นคอนเสิร์ตไลฟ์สตรีมเดือนนี้ แต่คุยกันแล้วมันไม่สนุก เล่นคอนเสิร์ตมันต้องเล่นส่งพลังไปให้คนดู คนดูต้องส่งกลับมา มันถึงจะเป็นการแสดงสด ถ้าแสดงสดแล้วคนดูอยู่อีกที่นึง คนเล่นอยู่อีกที่นึง มันแปลกด้วยนะ อารมณ์เราต้องเล่นอารมณ์ไหน ไม่ได้เห็นคนดู ไม่มีเสียงอะไรเลยนอกจากพวกเรากันเอง

ตอนนี้ที่รู้มา เดือนหน้าจะเริ่มมีงานแล้ว แต่มันก็อย่างที่บอก จะไม่ฝากอะไรไว้แล้วกับสิ่งนี้ เกิดอาทิตย์หน้ามีคนติดมา แสดงว่าที่รออยู่ข้างหน้าจะหายไปหมดเลย เราไม่สามารถตัดสินใจหรือเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราอยู่แค่ในรั้วบ้านดีกว่า เราสามารถดูแลทุกอย่างได้เต็มที่ เรารู้อนาคตเราหมด เอาแค่ตรงนี้ก่อน”

สำหรับอนาคต แม้เส้นทางสายเกษตรกรจะไปได้สวยงาม แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงรักในอาชีพนักดนตรี ความสำคัญจึงอยู่ที่การจัดสรรเวลา เพื่อไม่ให้กระทบทั้งสิ่งที่รัก งานอดิเรกที่อยากทำ ตลอดจนอาชีพที่สร้างรายได้

“ที่ตั้งใจไว้จริงๆ คือ ทำทุกอย่างให้มันไปด้วยกันได้โดยที่ไม่เกิดการขัดแย้งกัน เมื่อก่อนอาจจะแค่เราเล่นกีฬายังไงไม่ให้ไปกระทบกับดนตรี ตอนนี้มันก็มีไส้เดือนเข้ามาด้วย มี 3 บทบาท อาจจะต้องแบ่งเวลาเพิ่มขึ้น ถ้าจะบอกว่าต้องการความเติบโต ต้องการกำลังผลิตมากขึ้น

แต่คงไม่ได้คิดว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นฟาร์มไส้เดือน เพราะว่าเราก็ยังอยากจะเล่นคอนเสิร์ต อยากจะเอนเตอร์เทนคนดู การเป็นนักดนตรีกับการเป็นเกษตรกร มันไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกันเลย เราสามารถเลี้ยงไส้เดือนไปด้วย แล้วก็แบ่งเวลาไปตีกลองด้วยได้ หรือว่าถึงเวลาไปแข่งกีฬาด้วยได้ มันอยู่ที่การจัดการ”

จากขยะใบไม้ สู่ธุรกิจ “ปุ๋ยมูลไส้เดือน”

หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการมาทำธุรกิจนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญผสมกับโชคดี เพราะเริ่มแรกนั้น เขาต้องการนำขยะใบไม้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งก็คือมูลไส้เดือนจำนวนมหาศาลอันอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เขาจึงเล็งเห็นโอกาสที่จะต่อยอดเป็นรายได้ให้ครอบครัวอีกทาง

“ตั้งแต่ทำสวนมา พอเวลาใบไม้แห้ง มันก็ร่วงลงมาเต็มไปหมด อย่างต้นมะม่วง ต้นขนุน ใบมันก็ร่วงทุกฤดู อาทิตย์นึงประมาณถุงขยะไซส์ใหญ่ที่สุด 10 ถุงขึ้นไป ก็เริ่มคิดว่า ทำไมต้องซื้อถุงขยะเยอะๆ มันไม่ใช่สิ่งที่มันถูกต้องสำหรับวิถีชีวิตเท่าไหร่ และถ้าเราเอาขยะออกไปนอกบ้าน ก็เหมือนกับไม่ค่อยรับผิดชอบต่อสังคม เลยคิดหาวิธีที่จะเอาขยะพวกนี้กลับมาใช้ให้มีประโยชน์กับสวนของเราเอง จริงๆ แล้วงก (หัวเราะ) ไม่อยากซื้อถุงขยะเพราะซื้อทีนึงเยอะมาก

หาข้อมูลว่า เวลาที่มีเศษขยะพวกกิ่งไม้ใบไม้เขาทำยังไงกัน มันก็มีหลายวิธี เคยลองหมักปุ๋ยดู ปรากฏว่า มันต้องใช้เวลานานมาก กว่าที่ใบไม้พวกนั้นมันจะย่อยสลายจนหายไป ในบ้านมีกองปุ๋ยกองใหญ่ๆ จนมันสกปรกรกไปหมด เลยต้องหาวิธีอื่น ก็ไปเจอว่าไส้เดือนมันสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนที่ระบบการหมักปุ๋ยทำได้หมดเลย แต่ว่ามันจะใช้เวลาเร็วกว่าธรรมชาติหลายเท่า

ไส้เดือนมันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดิน มันก็จะกินซากพืชซากสัตว์ใต้ดินแล้วมันก็จะขึ้นมาถ่ายไว้ข้างบน ถ่ายออกมาเป็นเหมือนกับก้อนดินเล็กๆ สีน้ำตาล ในเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ แต่ถ้าเป็นใบไม้ในธรรมชาติที่ถูกจุลินทรีย์ ความชื้น และอากาศค่อยๆ ย่อยสลาย จนมันเปื่อยกลายเป็นสีน้ำตาล จะต้องใช้เวลา 2 เดือน ก็เลยลองเอาไส้เดือนมาใช้ดู

จริงๆ แล้วเพิ่งรู้ว่าคนเลี้ยงไส้เดือนไม่ได้มีแค่คนไทย ฝรั่งเขาก็กำจัดขยะด้วยวิธีนี้มานาน มันก็มีตัวอย่างเหมือนมีสูตรสำเร็จให้เราทำตามได้ แค่เอามาปรับใช้กับสิ่งที่เรามีอยู่ให้มันได้ และพอดีมีน้องที่รู้จัก เขาทำสวนปลูกผักสลัด เขาก็บอกว่าเขาเอาขี้ไส้เดือนมาใส่ผักเขา ผักก็งามดี แล้วมันก็ปลอดเคมี เป็นออร์แกนิก เลยคิดว่ามันอาจจะเป็นคำตอบที่เรากำลังมองหาอยู่ก็ได้ หลังจากนั้นก็ลุยเลย”

เมื่อได้วิธีการที่ตอบโจทย์ตัวเองมาแล้ว เขาก็ไม่รอช้า จัดแจงพาไส้เดือนเข้าบ้านมาทำหน้าที่ผู้กำจัดขยะใบไม้ทันที และเมื่อเวลาผ่านไป ขยะใบไม้ที่ต้องเก็บทิ้งคราวละมากๆ ก็หมดไป แต่ได้เป็นมูลไส้เดือนที่สามารถใช้เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้มาแทน

“ตอนที่เริ่มหาข้อมูล ดูคนที่เลี้ยงไส้เดือนทุกคนจะชอบจับไส้เดือนมาเยอะๆ แล้วก็มาชู ก็คิด ‘แล้วกูต้องทำอย่างนั้นด้วยเหรอ’ (หัวเราะ) รู้สึกไม่กล้านะบอกตรงๆ ขยะแขยงเหมือนกันเห็นไส้เดือนยั้วเยี้ยเต็มไปหมด แต่พอมันทำไปเรื่อยๆ เริ่มทำก็ใส่ถุงมือ ใส่แล้วมันก็รู้สึกไม่ถนัด ต้องจับตัวไส้เดือนแยกตัว ถุงมือก็ทำให้ทำงานลำบาก พอถึงเวลามันก็ต้องรับสภาพและทำให้เคยชิน ยอมรับความกลัวให้ได้

ทำมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เกือบ 2 ปีแล้ว เริ่มจากกระบะสีดำแค่ 6 กระบะ ซื้อไส้เดือนมากิโลครึ่ง ไส้เดือนมันทำแค่นี้ กิน ขี้ ไข่ วนไป มันก็เริ่มมีผลผลิตมากขึ้นเป็นขี้ไส้เดือน ใบไม้ที่มันเยอะๆ จากที่ต้องทิ้ง มันก็ลดจำนวนถุงลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเราไม่มีขยะที่ต้องทิ้งออกไปนอกบ้าน กลายเป็นขี้ไส้เดือนเป็นกะละมังๆ รวมกันเป็นถังใหญ่ๆ วางไว้เต็มไปหมด

ก็คิดว่าวางไว้แบบนี้มันก็ไม่มีประโยชน์ ก็เลยใส่ต้นไม้ในบ้านก่อน ใส่เสร็จมันก็ยังเหลืออีก ก็เลยคิดว่าต้องแบ่งปันให้คนอื่นใช้บ้าง เริ่มขาย แต่ช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีใครซื้อ”

ลดเคมี คืนชีวิตสู่ดิน

“ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่รู้จักไส้เดือน ก็ใช้เคมีเหมือนกัน แต่เห็นว่าดินมันขาดชีวิต มันทำให้ต้นไม้โตก็จริง แต่มันไม่มีชีวิต ไม่มีระบบนิเวศ”

แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 2 ปี ที่ตัดสินใจเดินในเส้นทางสายนี้ แต่เกษตรกรเลี้ยงไส้เดือนหน้าใหม่ก็ยอมรับว่า ตั้งแต่เลี้ยงไส้เดือนมา ก็ทำให้ความคิดและแนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะทำให้เขาหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ด้วยการเลิกใช้สารเคมี

“เรียนออกแบบมา แต่ว่าไม่เคยออกแบบเลย เรียนจบปุ๊บ ก็ไปเป็นนักดนตรี สวนบ้านตัวเองก็ต้องให้เพื่อนมาออกแบบให้ พอเขาออกแบบให้ก็ชอบ สวยดี อยากได้สวนที่ต้นไม้เยอะๆ แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าถ้าต้นไม้มันกินได้ด้วยก็คงดี เลยค่อยๆ เริ่มเอาต้นนี้ออกบ้าง แล้วเอาต้นไม้ที่มันกินได้ใส่ไปแทน ไม้พุ่มก็เอากะเพรา โหระพา หลายอย่าง

แต่ทีนี้ต้นไม้มันต้องการการดูแล ถ้าเอาปุ๋ยเคมีมาใส่ แล้วอยู่ดีๆ เราต้องมาเด็ดใส่ปากเลย ก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยปลอดภัยสำหรับเรา สำหรับคนในครอบครัวเรา ก็เลยคิดว่าถ้าจะให้มันสบายใจจริงๆ อยากทำอาหาร เดินออกมาข้างนอก เด็ดไปทำอาหารได้เลยมันก็น่าจะดีกว่า นี่คือเริ่มต้นจากเราเอง

ถ้าคนที่ปลูกต้นไม้เป็นแบบนี้ทุกคน มันก็น่าจะทำให้สุขภาพของคนดีขึ้น ถ้าวิถีการเพาะปลูกเดินห่างออกจากสารเคมีได้ มันก็อาจจะแยกกันเด็ดขาดไม่ได้เพราะต้นทุนการทำการเกษตรอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ว่าเริ่มต้นแล้ว ในระยะยาวมันก็น่าจะดีขึ้น ทำทุกอย่างให้ปลอดสาร”

และช่วงโควิด-19 ระบาดหนักที่ผ่านมานั้น ก็ยิ่งทำให้เขาตระหนักได้ถึงความสำคัญของการลดการใช้สารเคมี ที่เป็นผลดีทั้งต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง ตลอดจนลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา

“ตอนที่ไม่ต้องออกไปจากบ้านมันก็มีเวลาทำอะไรก๊อกๆ แก๊กๆ ไป ไม่ได้เจอลูกค้าเลย แค่ทำงาน แพกใส่ถุง แล้วก็เอาไปส่ง หรือบางทีมีคนสั่งแล้วมาเอาที่บ้าน มันก็เป็นการทำงานที่มันเหมือนกับถูกเวลา ถูกกับวิถีชีวิตของคนในช่วง 4-5 เดือนนี้ พอเหมือนกับพอคนออกจากบ้านไม่ได้ ก็เริ่มหันมาใส่ใจกับตัวเองมากขึ้น ใส่ใจกับวิถีชีวิตตัวเอง

เพราะฉะนั้นการทำอะไรที่มันห่างไกลจากเคมี ห่างไกลจากความเป็นพิษ มันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ทำให้คนเริ่มเดินกันไปในวิถีนั้นมากขึ้น มันก็ตอบโจทย์ เราก็ไม่อยากใช้เคมีแล้วก็มีคนที่ไม่อยากใช้เคมี ก็เท่ากับว่ามีคนซื้อคนขาย ก็ตอบโจทย์กันพอดี”

และสำหรับชื่อแบรนด์ “คืนดิน” ก็มาจากการที่เขาทดลองนำปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใส่ต้นไม้ที่มีแต่ใบ จนสามารถกลับมาผลิดอกออกผลได้ คล้ายกับเป็นการทำให้ดินที่ตายไปแล้วได้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง

“ช่วงที่ต้องคิดชื่อก็ไม่รู้จะเอาชื่ออะไร (หัวเราะ) แต่บนบ้านจะปลูกต้นไม้เยอะมาก ใส่กระถางไว้ตรงชั้น 2 จะมีพวกผักสวนครัว แล้วก็ติดใจมะนาวอยู่ต้นนึง ไปซื้อมาจากจตุจักร ตอนซื้อก็ โห…ลูกมะนาวเต็มต้นไปหมด ดีใจมาก ได้ใช้มะนาวจากต้นของเราเอง พอใช้ไปหมดต้นปุ๊บ คราวนี้มันไม่ออกอีกเลย เป็นปีสองปี กลายเป็นต้นมะนาวที่มีแต่ใบ

จนกระทั่งเริ่มมีขี้ไส้เดือน ก็เอาขี้ไส้เดือนไปใส่โคนต้น แล้วก็ลืมไปเลย อีกสัก 4-5 เดือน เริ่มมีลูกตามใบ ปลายกิ่งมีลูกเป็นช่อเต็มไปหมด ก็ตกใจ ทำไมมันกลับคืนมาได้ ก็เลยไปคุ้ยๆ ที่โคนต้นดู ปรากฏว่ามันมีผุดเป็นเม็ดๆ เหมือนขี้ไส้เดือน เจอตัวไส้เดือน มีเห็ดรา มีแมลง จากดินสีดำๆ แห้งๆ มันกลายเป็นมีระบบนิเวศ มีชีวิต ทุกอย่างกลับมาอยู่ในกระถางใหม่ พอมันมีชีวิตแล้ว มันก็ออกผล เหมือนคืนชีวิตให้เรา ก็เลยคิดว่ามันก็คืนกันไปคืนกันมา ก็เลยใช้คำว่าคืนดิน”

เมื่อถามว่า พบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นของการเลี้ยงไส้เดือนบ้างหรือไม่ เกษตรกรหน้าใหม่รายนี้ให้คำตอบว่า ยังไม่เคยเจอ หากจะมีก็มีเพียงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการยกกระบะเท่านั้น ซึ่งผลตอบรับอย่างถล่มทลายจากลูกค้านั้น เป็นกำลังใจให้เขาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่อไป และไม่คาดคิดว่าสินค้าจะได้รับการตอบรับมากมายขนาดนี้

“ส่วนใหญ่แล้วการทำปุ๋ยหมัก อย่างขี้วัวหรือปุ๋ยหมักอื่นๆ ถ้าคนทำเกษตร คนปลูกต้นไม้จะรู้ว่าเอาขี้วัวมาใส่ต้นไม้เลยไม่ได้ เพราะมันต้องรอให้ขี้วัวผ่านการย่อยสลายไปประมาณนึงก่อน ถึงจะเริ่มกลายเป็นปุ๋ย ถ้าเอาขี้วัวใส่ต้นไม้ ต้นไม้จะเหลืองหมดเพราะมันจะไปดึงแร่ธาตุไนโตรเจนเพื่อเอามาย่อยตัวมันเอง แต่ว่าถ้าเป็นขี้ไส้เดือนมันผ่านกระบวนการย่อยมาแล้ว มันคือปุ๋ยที่พร้อมปล่อยสารอาหารให้ต้นไม้ มันจะต่างจากปุ๋ยอย่างอื่น

อาจจะเรียกว่าทำการบ้านมาค่อนข้างดีมั้ง ก็เลยยังไม่เจอปัญหาตรงๆ เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ปัญหาจะเป็นเรื่องสุขภาพร่างกายมากกว่า คือกระบะนึงน้ำหนักประมาณ 12-15 กิโล ถ้ายกวันนึง 40 กระบะก็คูณเข้าไปว่าวันนึงยกน้ำหนักเท่าไหร่ นั่นแหละคือปัญหาหลัก ต้องพึ่งหมอนวด (หัวเราะ)

ไม่เคยขายอะไร ปกติขายแต่เพลง ขายแต่การแสดงแค่นั้น วิธีการขายไม่รู้ว่าเขากันยังไง รู้แค่ว่าเราควรจะต้องทำสินค้าของเราให้ดีที่สุด แล้วก็ทำให้ถูกใจคนซื้อที่สุดแค่นั้น ไม่รู้จักการทำมาร์เกตติ้งอะไรยังไง ทำไส้เดือนมันคือการใช้แรงงาน เอาแค่ซัปพอร์ตตัวเองได้โดยที่เราไม่เหนื่อยเกินไปเคยมีช่วงเอาไส้เดือนโยนทิ้งริมรั้ว แล้วพอมันขายได้เยอะจริงๆ ต้องไปขุดไส้เดือนที่เคยโยนทิ้งกลับมาเลี้ยงในกระบะ ต้องไปนั่งดึงทีละตัวๆ (หัวเราะ) ก็ไม่คิดว่ามันจะดีขนาดนี้”


“กีฬากับไส้เดือน” แตกต่างแต่เหมือนกัน

สำหรับไลฟ์สไตล์อื่นๆ นอกจากการเป็นนักดนตรีและคนเลี้ยงไส้เดือนแล้ว เขาเป็นอีกคนที่มีความหลงใหลในการออกกำลังกาย และมักจะท้าทายขีดจำกัดของตนเองด้วยการเข้าร่วมแข่งกันกีฬาที่ต้องใช้ความทรหด อย่างการวิ่งมาราธอน ตลอดจนการแข่งขันไตรกีฬา ที่ผ่านสนามมาแล้วทั้งในและนอกประเทศ

“เมื่อก่อนนี้เริ่มออกกำลังกายจริงจัง เริ่มจากขี่จักรยาน เป็นคนที่ชอบทำอะไรแล้วอยากจะดูว่าตัวเองไปได้เต็มที่แค่ไหน พอขี่จากใกล้ๆ ก็เริ่มไกลขึ้น จากไกลเริ่มเร็วขึ้น จะเอาให้เร็วที่สุดมันก็ต้องเข้าไปสู่งานแข่งขัน พอแข่งไปได้เรื่อยๆ มันก็รู้สึกว่า การแข่งขันจักรยานจริงๆ มันอันตรายมาก ล้มทีนึงก็เลิกตีกลองไปเลย 6 เดือน เคยเป็นแบบนั้นมาแล้ว ก็กลายเป็นว่ารู้สึกกับการแข่งขันกับคนอื่นน้อยลง ก็เลยคิดว่าเรามาออกกำลังกายที่แข่งกับตัวเองดีกว่า

มีไตรกีฬา มันก็เป็นการแข่งขันกับตัวเอง ว่ายน้ำเสร็จ ขี่จักรยาน แล้วก็วิ่งต่อ ทำยังไงให้เราทำสถิติ 3 อย่างในการแข่งขันเดียว แล้วก็ทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ เราเลยไปโฟกัสที่ไตรกีฬา ปีที่แล้วแข่งไตรกีฬาเยอะมาก มีไปแข่งที่เมืองนอก แข่ง Iron man ก็จบมาปีที่แล้ว

วิ่งมาราธอนสนามเมเจอร์ของโลก มีอยู่ด้วยกัน 5-6 สนาม พอแข่งที่เบอร์ลินได้ ก็ทำเวลาที่จะไปแข่งบอสตันได้ เวลาที่มันได้บอสตันก็ได้ที่ชิคาโกด้วย จริงๆ ตอนนี้ต้องแข่งไตรกีฬาอยู่สวีเดน แล้วเดี๋ยวก็จะไปชิคาโกต่อเดือนหน้า มันอยู่ในแพลนหมดทุกอย่าง ที่ไทยด้วย จะพยายามหาอะไรแข่งเรื่อยๆ ทุกเดือน

พอมันเริ่มจริงจัง ก็รู้สึกว่าชอบไปหมดเลยนะ มันต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างวิ่งมาราธอนหลังขี่จักรยานมา 180 กิโลแล้ว มันไม่เหมือนกับวิ่งมาราธอนอย่างเดียว คนละอารมณ์มันก็ให้ความรู้สึกในการแข่งขันที่ต่างกัน แต่ละเมือง คนเชียร์ บรรยากาศ ปกติเวลาที่จะไปแข่งก็ไม่ได้ไปวันศุกร์แล้วแข่งวันเสาร์ จะไปก่อนซัก 2 อาทิตย์ ไปใช้ชีวิตที่นั่น ปรับเวลาไปด้วย ไปซ้อมที่โน้น ไปทำอาหารกิน ไปเช่าบ้านอยู่ มันรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิต”

และแน่นอนว่า วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ ก็ทำให้แผนการแข่งต่างๆ ที่วางไว้ พังลงไม่เป็นท่า

“ปีที่แล้วแข่ง Iron man ที่สวีเดน มันต้องว่ายน้ำ 3.8 กิโล ว่ายน้ำเสร็จก็ขี่จักรยานต่อ 180 กิโล เสร็จก็วิ่ มาราธอนต่อ 42 กิโลติดต่อกัน ต้องทำให้ได้ภายใน 15 ชั่วโมง ทำไปได้ 11 ชั่วโมง ปีนี้ตั้งใจว่าจะทำต่ำกว่า 11 ชั่วโมง แล้วก็มาราธอนอยากจะทำให้ได้ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ต้องเร็วมาก ต้องอุทิศร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิตทุกอย่าง ซึ่งคิดว่ามันต้องได้แน่ๆ แต่อยู่ดีๆ ทุกอย่างก็ตู้ม หายไปหมดเลย

แพลนของปีนี้จริงๆ แล้วจะเป็นปีที่พีคสุดเรื่องกีฬา เพราะว่าปีที่แล้วไปแข่งมาเยอะมาก แล้วรู้สึกว่าปีนี้จะต้องทำทุกอย่างให้มันดีขึ้น ทั้งวิ่งมาราธอน ทั้งไตรกีฬาต่างๆ เรียกได้ว่าหลังจากสงกรานต์ มีแข่งรายการใหญ่ๆ ในประเทศต่างประเทศทุกเดือน บางทีก็เดือนละ 2 ครั้ง ตั้งใจไว้ว่าจะซ้อมแล้วฟิตๆๆ ไปเรื่อยๆ จนแข่งทุกอย่างจบปีนี้ แล้วจะเลิกบ้าคลั่ง (หัวเราะ) จะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

จะพยายามเอาให้สุด มันต้องมีวินัยมากนะกับการที่จะวิ่งมาราธอนให้ได้ 3 ชั่วโมง ต้องใช้ความตั้งใจ ทั้งจิตใจทั้งร่างกายต้องทุ่มเท ทุ่มเทอยู่ดีๆ แล้วก็ไม่รู้จะทุ่มเทไปเพื่ออะไรเพราะเป้าหมายมันหายไปแล้ว ก็เคว้งอยู่พักนึงเลยเลิกทุกอย่าง (ถ้ากลับมาแข่งได้อีก) ไปแน่นอน แต่ว่าก็คงต้องเริ่มใหม่ เพราะความฟิตที่ทำมาตลอดหลายปีมันหายไปหมด เลี้ยงไส้เดือนดีกว่า (หัวเราะ)”

และหากจะเปรียบเทียบการเล่นกีฬากับการเลี้ยงไส้เดือน มือกลองผู้นี้ก็กล่าวว่า ทั้ง 2 อย่างจำเป็นต้องใช้ความนิ่งเหมือนกัน แต่เป็นความนิ่งคนละรูปแบบ

“จริงๆ ถ้าจะบอกว่าวิ่งไม่ได้อยู่นิ่งก็ไม่ใช่นะ ขี่จักรยานกับวิ่งบางทีมันนิ่งมากๆ เลย มันโฟกัสอยู่แค่ก้าวสองก้าว หรือเมตรสองเมตรข้างหน้าเท่านั้น มันนิ่งกว่าการที่เราเดินไปเดินมาอีก เพราะเส้นทางตรงๆ ไม่มีอะไรมาทำให้เราไขว้เขวเลย เราอยู่กับตัวเราตลอดเวลา 42 กิโลนั้น หรือว่าระยะปั่นจักรยาน มันทำให้เรานิ่งมาก นิ่งในการแข่งกีฬามันคือต้องใช้แรง โฟกัสกับลมหายใจเข้า-ออก ก้าวขาซ้าย-ขวา มันนิ่งก็จริงแต่มันคิดอะไรไม่ค่อยได้มาก

แต่พอมาเป็นไส้เดือน มันก็นิ่งอึกแบบนึง เงียบกริบเลย อาจจะมีเสียงรถ เสียงนก แต่ก้มหน้าแล้วก็ดูไส้เดือน ปาดขี้ อยู่กับตัวเอง ความเงียบ มันก็ทำให้มีเวลาคิดทบทวนหรือว่าคิดไปข้างหน้าได้มากกว่านิ่งแบบใช้แรง”

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย โป้งกล่าวว่า นอกจากมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว ไส้เดือนยังเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในที่นั้นๆ ด้วย และเขาก็ได้ใช้โอกาสนี้ฝากไปถึงใครก็ตาม ที่สนใจแนะอยากจะเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน ก็สามารถเข้าไปพูดคุยกันได้ในเพจเฟซบุ๊ก “คืนดิน”

“จริงๆ แล้วการเลี้ยงไส้เดือนมันก็ไม่ได้ยากสำหรับคนทั่วไป มันเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากๆ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเราตลอดแต่เราอาจจะไม่เห็น แล้วเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าแถวนั้นอุดมสมบูรณ์แค่ไหน ไส้เดือนมันก็ทำให้ทุกอย่างรอบตัวมันดีขึ้น

ส่วนใครที่สนใจไส้เดือน อยากรู้ว่าที่มาที่ไปมันเป็นยังไง อยากทำความรู้จักกับไส้เดือนต่างๆ วิธีการเลี้ยง หรือเรื่องราวต่างๆ ของไส้เดือน ก็ลองเข้าไปที่คืนดินได้เพราะตั้งแต่เริ่มเลี้ยงมา เจออะไรดี เจออะไรไม่ดี ส่วนใหญ่ก็จะบันทึกไว้ คนที่เข้ามาอ่านก็จะได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ร่วม ลองเข้าไปดูกัน”

https://mgronline.com/live/detail/9630000088156

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “คืนดิน” , “Pawin Pong Suwannacheep” และ ”ModernDog”