ลงทุนหุ้นกู้ต้องดู Credit Rating สำคัญอย่างไร บอกความเสี่ยงอะไรบ้าง

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

Credit Rating คืออะไร บอกความเสี่ยงของผู้ออก คุณภาพหุ้นกู้อย่างไร เรทติ้งกับผลตอบแทน สัมพันธ์อย่างไร หุ้นกู้มีเรทติ้ง กับ unrated เหมาะกับใคร ลงทุนได้ไหม ติดตามได้ที่นี่

หุ้นกู้ที่ ก.ล.ต. อนุญาตให้บริษัทออกขาย ไม่ได้การันตีว่าหุ้นกู้นั้นไม่เสี่ยง ก.ล.ต. เพียงพิจารณาว่าบริษัทได้ทำตามขั้นตอนและมาตรฐานในการออกหุ้นกู้ครบถ้วนแล้ว เช่น ขายให้กับใครได้บ้าง ข้อมูลที่เปิดเผยต้องมีอะไร เป็นต้น

 

ส่วนความเสี่ยงของหุ้นกู้ นั้นสามารถดูได้จาก เครดิตเรทติ้ง ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับเครดิต หรือคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า CRA (Credit Rating Agency) ที่ ก.ล.ต เห็นชอบ ซึ่งในประเทศไทยมี 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (tris) และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch)

 

เวลาจะออกเรทติ้ง CRA จะดูลักษณะของบริษัท ผลประกอบการ หลักทรัพย์ค้ำประกัน เงื่อนไขที่กำหนดให้ปฏิบัติตาม รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีความสามารถชำระหนี้คืนขนาดไหน แล้วก็สะท้อนออกมาเป็นสัญลักษณ์

 

เรทติ้งที่ดีที่สุด คือ AAA ที่แทบจะไม่เสี่ยงเลย จากนั้นไล่ลงไป B , C และแย่ที่สุด คือ D ซึ่งหมายถึง Default หรือมีสถานะผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ยิ่งตัวอักษรซ้ำหลายตัว หรือมีประจุบวก แสดงว่าคุณภาพดีกว่าอักษรตัวเดียวหรือไม่มีประจุ

 

อย่างไรก็ดีธรรมชาติของการลงทุน เมื่อ high risk ได้ high returm ดังนั้น low risk ก็ low return เช่นกัน

 

เรทติ้ง ก็สัมพันธ์กับ ผลตอบแทน ในลักษณะเดียวกัน

 

1. เรทติ้งกับผลตอบแทนสัมพันธ์กันอย่างไร

 

หุ้นกู้เรทติ้งเกรดเอ ที่มีความเสี่ยงน้อย จะให้ผลตอบแทนน้อย เช่นเดียวกับ หุ้นกู้ที่ได้เรทติ้งต่ำ ผลตอบแทนจำต้องสูงขึ้นบวกเพิ่มเป็นค่าความเสี่ยงให้ผู้ลงทุน ดังนั้นผู้ลงทุนอย่าดูเฉพาะผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยสูง ต้องย้อนกลับไปดูความเสี่ยง ดูเครดิตเรทติ้ง ดูเงื่อนไข และยังต้องดูเงินในกระเป๋าด้วย

 

ถ้ามีเงินเย็นจำนวนมากรับความเสียหายได้ ก็พิจารณาเอา แต่สำหรับผู้ที่มีเฉพาะเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต ไม่ควรนำมาลงในหุ้นกู้เรทติ้งต่ำ เพียงหวังผลตอบแทน ที่คงไม่คุ้มเสียหากสุดท้ายต้องสูญเงินทั้งหมด ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้

 

2.ความต่าง Credit Rating ระหว่าง Investment Grade กับ Non-Investment Grade ระดับความน่าลงทุน ซึ่งแบ่งเป็น

 

Investment Grade และ
Non-Investment Grade

Investment Grade (อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง “กลุ่มระดับลงทุน” เรทติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก

 

Non-Investment Grade (นัน-อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง “กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน” เรทติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำ จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

ย้ำสำหรับ”ผู้ลงทุนรายบุคคล”จะมีสิทธิลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งเท่านั้น ก.ล.ต.ไม่เปิดให้ลงในหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรืออันเรท (Unrated) เพราะความเสี่ยงสูงมาก มีโอกาสสูญเงินต้นมาก

 

ตัวอย่างการเลือกซื้อหุ้นกู้ 2 บริษัท

 

หุ้นกู้บริษัท ก.อายุ 3 ปี มีหลักประกัน จ่ายดอกเบี้ย 4% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน มีเครดิตเรทติ้ง BBB+

หุ้นกู้บริษัท ข. อายุ 3 ปี ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด จ่ายดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน มีเครดิตเรทติ้ง BB

จุดแรก ดูดอกเบี้ย > หุ้นกู้ ก. ดอกเบี้ย 4% ขณะที่ หุ้นกู้ ข. ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 6.5% อายุเท่ากัน 3 ปี ดูแล้ว หุ้นกู้ ข. น่าซื้อกว่าเห็น ๆ แต่! ดอกเบี้ยสูงต้องแลกกับความเสี่ยงสูง #HighRisk HighReturn

 

จุดที่สอง เครดิตเรทติ้ง > ระหว่าง “BBB+” กับ “BB” แน่นอนตัวที่ดีกว่า คือ หุ้นกู้ ก. เรทติ้ง BBB+ ซึ่งเป็นระดับInvestment Grade

 

จุดที่สาม ดูเงื่อนไขอื่น > เช่น หลักประกัน การไถ่ถอนก่อนกำหนด ซึ่งมีผลต่อเรทติ้งและดอกเบี้ย

 

มาถึงบรรทัดนี้ ต้องมาวัดใจกันแล้วว่า หัวใจเราเสริมใยเหล็กแค่ไหน

 

#ถ้าชอบเล่นชิงช้าสวรรค์ ไม่หวือหวา ยอมได้ดอกเบี้ยน้อย เพื่อความเสี่ยงน้อยลง ก็เลือกหุ้นกู้ ก.

 

#ถ้าชอบเล่นรถไฟเหาะตีลังกา ได้ลุ้น 2 เด้ง เด้งแรก จะชำระหนี้ให้เราได้ไหม เด้งที่สอง ดอกเบี้ย 6.5% จะได้นานแค่ไหน เพราะผู้ออกอาจคืนเงินต้นให้เร็วกว่ากำหนด ถ้ารับได้ ก็เลือกหุ้นกู้ ข.

 

3.โอกาสที่ผู้ลงทุนไม่ได้รับเงินคืน ของแต่ละ Credit Rating

 

อย่างที่รู้แล้วว่า หุ้นกู้เรทติ้งหลายระดับ ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้เรทติ้งต่างกันก็มีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนแตกต่างกันไป ยิ่งเครดิตเรทติ้งต่ำ ๆ ใกล้ระดับ D โอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินคืนก็ยิ่งสูงไปตามกัน

 

สถาบันจัดอันดับเครดิตของไทย ได้แก่ Fitch กับ Tris ได้ประเมินโอกาสที่บริษัทผู้ออกไม่สามารถจ่ายเงินคืนผู้ลงทุน หรือโอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนของแต่ละเรทติ้งไว้ ดังนี้

 

 

ลงทุนหุ้นกู้ต้องดู Credit Rating สำคัญอย่างไร บอกความเสี่ยงอะไรบ้าง

 

หุ้นกู้เรทติ้ง AAA -AA ที่ถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่คุณภาพดีมากถึงมากที่สุด จะมีโอกาสที่จะสูญเงินต้นซักเท่าไหร่ … เพียง 0.02% แปลว่า

 

ในระยะเวลา 1 ปี หากมีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้ 100 ราย จะมีเพียง 0.02 ราย ที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่จ่ายเงินคืนให้คุณ

 

และถ้าดูจากตารางจะเห็นว่าโอกาสการสูญเงินต้นจะเพิ่มมากขึ้น ๆ จาก AAA ถึง AA ยังเป็นระดับทศนิยม >> BBB ถึง B เพิ่มขึ้นมาอยู่แถวๆ 1- 4% แปลว่า หากมีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้ 100 ราย จะมีเพียง 1-4 ราย ที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่จ่ายเงินคืนให้คุณ

 

>> พอเรตติ้ง CCC-C โอกาสสูญเงินต้นกระโดดไปถึง 32% หรือในจำนวนผู้ออกหุ้นกู้ 100 ราย จะมีผู้ออกหุ้นกู้ถึง 32 รายที่ผิดนัดชำระหนี้ >> และที่แย่สุดๆ คือเรตติ้ง D ที่โอกาสสูญเงินต้นมีถึง 100% เลย นั่นหมายถึง หากคุณลงทุนหุ้นกู้นั้น คุณต้องสูญเงินแน่นอน ซึ่งก็ต้องไปฟ้องร้องกันต่อไป และหากเป็นเงินก้อนสุดท้าย คุณจะเสียใจมากแค่ไหน

 

จะเห็น”เรทติ้ง”นอกจากบอกคุณภาพบริษัทแล้ว ยังสะท้อนถึงโอกาสที่เราจะไม่ได้เงินต้นคืนอีกด้วย แต่อย่าลืมว่า แม้แต่เครดิตเรทติ้งชั้นยอดเยี่ยใ ก็มีโอกาสที่คุณจะไม่ได้รับเงินคืน ตอกย้ำว่า ไม่มีการลงทุนใด ๆที่ปลอดภัย 100 %

 

4. Credit Rating เปลี่ยนได้

 

เครดิตเรทติ้ง ไม่ใช่ว่าได้ระดับใดแล้ว จะคงระดับนั้นไปตลอด บริษัทที่เคยได้เรทติ้ง AA เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะตกชั้นไปอยู่ BBB ได้ เช่นเดียวกับบริษัทที่เคยได้เรทติ้ง BB+ หากธุรกิจเติบโตมั่นคง ก็มีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ Investment Grade ที่ BBB- ได้เหมือนกัน

 

ซึ่งเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้แนะนำเทคนิคในการดูว่าเรทติ้งของบริษัทนั้นจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งปกติบริษัทจัดอันดับความเชื่อถือจะให้มุมมองเพิ่มเติม ที่เรียกว่า “แนวโน้มอันดับเครดิต” (Rating Outlook) ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่

Positive >> มุมมองเป็นบวก >> เรทติ้งอาจปรับขึ้น
Stable >> มุมมองคงที่ >>เรทติ้งอาจไม่เปลี่ยนแปลง
Negative >> มุมมองเป็นลบ >>เรทติ้งอาจปรับลง
Deve​loping >> มุมมองไม่แน่นอน >> เรทติ้งอาจปรับในทิศทางใดก็ได้

ตัวอย่าง – ทริสเรทติ้ง คงอันดับเรทติ้งองค์กร และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของบริษัท กาสะลอง จำกัด ที่ระดับ “AA” แนวโน้ม “Negative” หรือมุมมองเป็นลบ

 

หมายความว่า บริษัท กาสะลอง จำกัด มีโอกาสที่เรทติ้งจะปรับลดลงจาก AA เป็น A, A-,BBB+ หรือต่ำกว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า เพราะอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ภาวะตลาดที่มีคู่แข่งอย่าง บริษัท ซ้องปีบ จำกัด แย่งตลาด หรือปัญหาการบริหารจัดการภายในบริษัท กาสะลอง เอง

 

ส่วนเครดิตเรทติ้งจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแค่ไหนนั้น ปกติบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะทบทวนเครดิตเรทติ้งปีละครั้ง ในระหว่างปี หากมีข้อมูลหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อธุรกิจ ก็เป็นผลให้มีการปรับมุมมอง หรือปรับเครดิตเรทติ้ง ได้เช่นกันครับผม

 

รู้จักหุ้นกู้มี “เรทติ้ง”กันแล้ว ต้องรู้ด้วยว่า มีหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้งขายอยู่ในท้องตลาดด้วยเช่นกัน แล้วจะขายให้ใคร คนซื้อจะรู้คุณภาพได้อย่างไร

 

5. หุ้นกู้ที่มี rate กับหุ้นกู้ unrated

 

หุ้นกู้ที่ได้รับเครดิตเรทติ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรทติ้งระดับลงทุน (Investment Grade) หรือต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) ก็ถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง สามารถนำเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปได้ (Public Offering) หากบริษัทได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

 

แต่หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “จังก์บอนด์ (Junk Bond)” คือหุ้นกู้ระดับไหน ? จังก์บอนด์ คือหุ้นกู้ ระดับ Non-Investment Grade หรือเรทติ้งต่ำกว่า BBB-

 

ในตลาดตราสารหนี้ นอกจากเราจะคุ้นกับหุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง (Rated Bond) แล้ว ยังมีหุ้นกู้อีกประเภท คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรือ Unrated Bond

 

หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง #Unrated Bond จะน่าลงทุนเหรอ ใครควรลงทุนได้บ้าง

 

ทำไมหุ้นกู้ถึงไม่มีเรทติ้ง #Unrated Bond มีได้ 2 กรณี คือ

 

(1) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับ กับ
(2) เป็นหุ้นกู้ที่ขอให้จัดอันดับแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา

เมื่อไม่มีเรทติ้งให้เห็น และผู้ลงทุนก็ไม่รู้ว่าเป็น #Unrated Bond ประเภทหุ้นดีแต่ไม่เข้าประกวด หรือหุ้นกู้ที่เข้าประกวดแล้วไม่ได้ไปต่อ ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องคิดไว้เลยว่า หุ้นกู้ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง และแน่นอนก็จะให้ผลตอบแทนสูงในคราวเดียวกัน ตามกฎธรรมชาติของ #HighRiskHighReturn

 

แล้วทำไม ก.ล.ต. ไม่ห้ามออก Unrated Bond เลย ? ถ้ารู้ว่าของแบบนี้เสี่ยงสูง

 

เรื่องนี้มีคำตอบ เนื่องจากผู้ลงทุนแต่ละคนมีความชอบความเสี่ยง (risk appetite) ไม่เหมือนกัน การการเปิดกว้างให้ให้ผู้กู้ออก Unrated Bond ได้ เพื่อให้เขามีช่องทางระดมทุน จากผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

สิ่งที่ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยในเรื่องนี้คือ นอกจากการบอกให้ผู้ลงทุนรู้ว่า หุ้นกู้นี้ไม่มีเรทติ้งแล้ว ก็ยังให้หุ้นกู้ประเภทนี้ขายให้กับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ มีเวลาศึกษาข้อมูล รู้จักลักษณะ Unrated Bond จริง ๆ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน บุคคลที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป ( High Net Worth ) และการเสนอขายให้เฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

 

ส่วนผู้ลงทุนทั่วไป ถ้าอยากจะซื้อ Unrated Bond ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนใน Unrated Bond เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยง และมีผู้จัดการกองทุนรวมที่เป็นมืออาชีพช่วยดูแล

 

สำหรับวิธีลงทุน Unrated Bond ผ่านกองทุนรวม แนะให้อ่านใน Fund Factsheet หลัก ๆ 3 จุด คือ

 

(1) ข้อมูลบอกว่า กองทุนนั้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งแต่ละประเภทกี่เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีการกระจุกตัวเกิน 20% ก็ต้อง highlight ขึ้นมา
(2) ดูชื่อหุ้นกู้ที่กองทุนรวมไปลงทุน ซึ่งจะมีรายชื่อ 5 อันดับแรก พอคุ้น พอรู้จัก และได้ rating เท่าใด และ
(3) ถ้ากองทุนรวมนั้นลงในหุ้นกู้ที่เสี่ยงมาก ๆ ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม (risk spectrum) ก็จะสูงกว่าระดับ 4 (เป็นระดับปกติของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้) ซึ่งอาจะสูงไปถึงระดับ 5-6 เทียบเท่ากับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเลยทีเดียว

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนประเภทใด หากจะลงทุนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ Unrated Bond ขอให้ดูที่อัตราส่วนทางการเงินเพื่อดูสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทด้วย

 

บทสรุป : เรทติ้งบอกให้รู้คุณภาพหุ้นกู้ แต่การลงทุนในหุ้นกู้ อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยงอื่นประกอบด้วย เช่น ความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ (interest rate risk ), สภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ ( liquidity risk ) และความเสี่ยงตลาด ( market risk) ​​

 

ที่มา : ก.ล.ต.