“จำปาดะทอด” กรอบนอก-นุ่มใน-เคี้ยวแล้วฉ่ำหวาน อร่อยไม่ธรรมดา ทำขายก็รายได้ดี

ออร์เดิร์ฟ - อาหารว่าง

“จำปาดะ” หลายคนอาจไม่รู้จักผลไม้ชนิดนี้  เป็นผลไม้ท้องถิ่นของทางใต้ ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับขนุนแต่ลูกจะเล็กกว่า กลิ่นแรงกว่า เมื่อสุกเนื้อจะนิ่ม กลิ่นหอม และรสหวานจัด ชาวปักษ์ใต้นิยมนำมาชุบแป้งทอดตามสูตรภูมิปัญญาชาวบ้าน เหมือนกับกล้วยทอด ลักษณะจะกรอบนอก เนื้อในนุ่มและฉ่ำหวาน เมล็ดก็กินได้ จัดเป็นขนมหวานรสอร่อยที่นิยมกัน จะกินแบบผลสด ๆ ก็อร่อยไม่เหมือนใคร ซึ่งหากินได้เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ได้นำสูตรการทอดจำปาดะขาย ซึ่งเป็นอาชีพพื้น ๆ มาแนะนำเพื่อนแนวทางให้กับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพ…

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลการทำในเรื่องนี้ คือ พี่ดา-ปรีดา ทองอยู่ และ พี่ต่าย-อรุณี สันติเฉลิมวงศ์ สองพี่น้องผู้สืบทอดการทำขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ “ขนมลาแม่สมจิตร” จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า เพราะที่บ้านมีอาชีพค้าขายและทำขนมพื้นบ้านขายหลายอย่าง หลัก ๆ มีกล้วยทอด มันทอด เผือกทอด กลอยทอด สาเกทอด ขนมลา และจำปาดะทอด สืบทอดทำขายกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนมาถึงรุ่นคุณพ่อคุณแม่ พอดีท่านมีลูกหลายคน ประกอบกับในพื้นที่มีคนขายขนมแบบเดียวกันเยอะ จึงคิดขยับขยายการขายมาเป็นสินค้าชุมชน

“ถ้าเรายังทำขนมขายในพื้นที่ต่อไป คงจะลำบากเพราะนับวันจะมีแม่ค้าเพิ่มมากขึ้น คุณแม่จึงให้ลูก ๆ ออกร้าน แยกกันขายตามงานโอทอป งานเกษตรแฟร์ งานแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยใช้สูตรพื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาโชว์การทำให้เห็นเพื่อเรียกความสนใจจากลูกค้า และส่วนผสมสำคัญซึ่งถือเป็นตำรับสูตรดั้งเดิมคือ น้ำปูนใส (ปูนแดงที่กินกับหมากพลู) เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ทำให้แป้งกรอบ ถือเป็นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ของที่ร้านไม่ใส่ผงฟูเหมือนกับเจ้าอื่น และใส่ใจกับการเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดประจำ ลูกค้าที่เคยซื้อขนมของเราจะรู้ มาเจองานไหนก็จะซื้อของเราตลอด”

อุปกรณ์

หลัก ๆ ที่ต้องใช้ก็มี เตาแก๊ส, กระทะขนาดใหญ่, ทัพพีด้ามยาว, ตะแกรง, ไม้ปลายแหลม, มีด, ถาดสเตนเลส, กะละมัง, หม้อขนาดใหญ่, กระด้ง และเครื่องใช้เบ็ตเตล็ดอื่นก็หยิบยืมเอาจากในครัว

วัตถุดิบ

ที่ใช้ในการทำจำปาดะทอดมี จำปาดะสด (เลือกลูกพอเหมาะ ขนาดน้ำหนัก 2 กก.) 5 ลูก, แป้งข้าวเจ้า 1 กก., แป้งข้าวโพด 1 ขีด (100 กรัม), มะพร้าวขูดขาว 5 กก., น้ำปูนใส 1 ถ้วย, ไข่ไก่ 4 ฟอง, น้ำตาลทราย  1 กก., งาขาวหรืองาดำก็ได้, น้ำมันปาล์ม, เกลือ, น้ำสะอาด และกระดาษซับมัน

ขั้นตอนการทำ “จำปาดะทอด”

อันดับแรก เริ่มจากนำมะพร้าวขูดขาวมาแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 นำไปคั้นเป็นน้ำหัวกะทิให้ได้ 2 ถ้วยตวง ส่วนที่ 2 พักเอาไว้ก่อน เพื่อที่จะใช้เป็นส่วนผสมตัวแป้งหุ้มจำปาดะ นำแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด มาร่อนผสมรวมกัน เสร็จแล้วนำไปเทใส่ในอ่างผสม ใส่น้ำตาลทราย เกลือ ไข่ไก่ น้ำหัวกะทิ ตามลงไป และน้ำปูนใสใส่ตามลงไป (สังเกตดู ถ้าตัวแป้งแข็งเกินไป ก็ให้เติมน้ำสะอาดลงไปเพิ่มนิดหน่อย) แล้วทำการนวดส่วนผสมแป้งให้เข้ากันดี เสร็จแล้วให้นำมะพร้าวขูดขาวส่วนที่กันเตรียมไว้ ใส่ลงไปในส่วนผสมแป้ง เคล้าให้เนื้อมะพร้าวกับส่วนผสมแป้งเข้ากันดี จึงใส่งาขาวหรืองาดำลงไป แล้วเคล้าเบา ๆ ให้ทั่ว ตั้งพักแป้งไว้สักครู่เพื่อให้แป้งขึ้น ระหว่างรอแป้ง ตั้งกระทะบนไฟ ใส่น้ำมันให้เยอะ ๆ รอให้น้ำมันร้อน เสร็จแล้วทำการผ่าลูกจำปาดะ โดยใช้มีดกรีดเป็นทางยาว ใช้มือแบะออก จะเห็นจำปาดะเกาะเป็นยวงอยู่ที่แกนกลาง ทำการตัดหัวตัดท้าย ดึงจำปาดะออกมาทั้งแกน แล้วใช้มือรูดผลจำปาดะลงในส่วนผสมแป้ง

ต่อไปเป็นขั้นตอนการทอด 

นำจำปาดะมาชุบแป้ง แล้วปั้นเป็นก้อนตั้งเตรียมไว้ในหม้อแป้ง ประมาณ 15-20 เม็ด พอน้ำมันร้อนจัด ค่อย ๆ นำจำปาดะที่หุ้มไปด้วยแป้งและมะพร้าวลงทอดในกระทะ ทำการเร่งไฟแรง ( ถ้าไฟไม่แรงจะอมน้ำมัน ) ใช้ทัพพีคอยคนเป็นช่วง ๆ สังเกตเห็นแป้งเหลืองกรอบ ตักขึ้นวางบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน แล้วนำไปเทลงบนถาดที่รองกระดาษซับมันไว้ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

เคล็ดลับความอร่อยของจำปาดะทอด นอกจากตัวแป้งที่ให้ความกรอบนอก นุ่มใน แล้ว ผลจำปาดะก็สำคัญ จะต้องคัดต้องเลือกลูกที่ตาห่าง ๆ เพราะเม็ดจะใหญ่ เนื้อจะหวานชุ่มคอ เข้ากันพอดีกับตัวแป้ง นอกจากนี้ส่วนผสมของแป้งสามารถปรับมาใช้กับการทำกล้วยทอด มันทอด เผือกทอด ฯลฯ ได้ เพียงแค่ใส่เนื้อมะพร้าวขูดขาวลงไปครึ่งหนึ่งของแป้งจำปาดะ เท่านี้ก็จะได้แป้งสำหรับทำกล้วยทอด

สำหรับราคาขาย “จำปาดะทอด” เจ้านี้ ขาย 5 เม็ด ราคา 40 บาท

ใครสนใจผลไม้ทอด ซึ่งเป็นขนมโบราณที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่าง “จำปาดะทอด” ก็ลองฝึกทำดู หรืออยากจะซื้อหามาลองชิมดู เจ้านี้จะออกขายที่งานแสดงสินค้าจังหวัด งานสมาคมชาวปักษ์ใต้ งานเกษตรแฟร์ และงานโอทอป ต้องการติดต่อไปออกงาน สอบถามรายละเอียดกับ พี่ดา กับพี่เต่า ได้ที่ โทร.08-9252-3758 และ 08-8875-0901 นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถนำมา
สร้างอาชีพได้อย่างน่าทึ่ง!!.

………………………………………………..
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง
เครดิต https://www.dailynews.co.th/article/757596